สำนักงาน กสม. จัดกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ด้านสิทธิในการบวนการยุติธรรม เพื่อขับเคลื่อนงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2567

28/03/2567 1398
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 – 17.30 น. ที่โรงแรมพูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด อำเภอเมือง จังหวัดขอนเเก่น นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นธาร ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนายภาณุวัฒน์ ทองสุข ที่ปรึกษาสำนักงาน กสม. พร้อมด้วยนายพิทยา จินาวัฒน์ นายบุญเเทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. เเละเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย ในฐานะคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ร่วมเป็นวิทยากรกลุ่ม เพื่อรับฟังความคิดเห็นเเละข้อเสนอเเนะจากภาคีเครือข่าย ภาคประชาสังคม ได้แก่ เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน กลุ่มคนฮักทุ่งกุลา กลุ่มรักษ์ดงลาน เฟมินิสต์ปลดเอกอีสาน กลุ่มทะลุฟ้า (ดาวดิน) บรรณาธิการ เดอะ อีสานเรคคอร์ด เครือข่ายศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มูลนิธิเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน เครือข่ายชุมชนรถไฟเมืองขอนแก่น กลุ่มเสียงเยาวชนขอนแก่น KKVOY เครือข่ายคนไร้บ้านจังหวัดขอนแก่น สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส กลุ่มสภาเด็กและเยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สภาทนายความขอนแก่น และภาครัฐ ในฐานะหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียน ได้แก่ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ อุดรธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ เป็นต้น และศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภาคการศึกษา ภาควิชาการ จากอาจารย์และนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงผู้สนใจเข้าร่วมจำนวน 80 คน
 
กิจกรรมดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “NHRC Justice Café” โดยผู้เข้าร่วมสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นแบ่งเป็น 6 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มที่ 1 การจับกุม การค้น การขัง และการออกหมายอาญา กลุ่มที่ 2 การแจ้งความและการตั้งข้อกล่าวหา กลุ่มที่ 3 การควบคุมตัว และการประกันตัว กลุ่มที่ 4 การสืบสวน สอบสวน การรวบรวมพยานหลักฐาน และการทำแผนประกอบคำรับสารภาพ กลุ่มที่ 5 การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมและการใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และกลุ่มที่ 6 การตรวจสารเสพติด
 
ทั้งนี้ ภายหลังจากการระดมความคิดเห็นครบทั้ง 6 กลุ่ม ผู้แทนแต่ละกลุ่มได้นำเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับประเด็นอื่น ๆ อีกทั้ง รับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากวิทยากรด้วย เพื่อเป็นการเติมเต็มความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างผู้เข้าร่วมและวิทยากร ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมสามารถนำความรู้และแนวปฏิบัติไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต อันเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรมด้วย
 
สำหรับการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อกระบวนการยุติธรรมในชั้นต้นธาร ได้เริ่มดำเนินการในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่แรก โดย สำนักงาน กสม. จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปในทุกภาค เพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และประมวลผลเพื่อนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจากภาคีเครือข่ายนำเสนอในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2567 ต่อไป
เลื่อนขึ้นด้านบน