กสม. ศยามล ประชุมเพื่อประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำถูกข่มขู่คุกคาม และขอเข้ามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ อ.วังสะพุง จ.เลย

19/01/2567 828
เมื่อวันที่ 18 - 19 มกราคม 2567 นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ลงพื้นที่บริเวณหน้าทางเข้าเหมืองแร่ หมู่บ้านนาหนองบง หมู่ 3 ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เพื่อรับฟังข้อเท็จจริงจากกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด กรณีกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเหมืองทองคำ ถูกข่มขู่คุกคาม และขอเข้ามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ ในพื้นที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
 
ในลงพื้นที่ดังกล่าวได้ประชุมร่วมกับนายกิตติคุณ บุตรคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ อุตสาหกรรมจังหวัดเลย ยุติธรรมจังหวัดเลย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเลย นายอำเภอวังสะพุง องค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง (อบต. เขาหลวง) สถานีตำรวจภูธรวังสะพุง (สภ.วังสะพุง) ผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม และชาวบ้านในพื้นที่ รวมประมาณ 60 คน เพื่อหารือแนวทางการคุ้มครองความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และประเด็นการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ โดยมีข้อสรุปเบื้องต้นจากที่ประชุมว่า ประเด็นกรณีการคุกคามความปลอดภัยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย อำเภอวังสะพุง สภ.วังสะพุง อบต.เขาหลวง และผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ได้รับดำเนินการทั้งในส่วนการจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจลาดตระเวนพื้นที่ให้สม่ำเสมอมากยิ่งขึ้น ให้มีช่องทางการแจ้งเหตุการณ์อย่างเร่งด่วน ระหว่างชุดรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอและ สภ.ในพื้นที่ ให้ตอบสนองในการเฝ้าระวังเหตุการณ์ในพื้นที่อย่างทันท่วงทีและสม่ำเสมอ
 
ส่วนประเด็นการฟื้นฟูพื้นที่นั้น รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลยรับที่จะเร่งจัดประชุมผู้เกี่ยวข้องตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างแผนการฟื้นฟูซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ทั้งนี้ ผู้แทนสำนักงานบังคับคดี รับที่จะประสานแจ้งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของบริษัทเอกชนผู้ได้รับสัมปทานการจัดการทรัพย์สินในพื้นที่เหมืองว่ามีการดำเนินการตามข้อตกลงเรื่องการจัดการฟื้นฟูพื้นที่หรือไม่อย่างไร ส่วนในระยะยาวและการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายเกี่ยวกับผลกระทบจากการทำเหมือง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จะได้เชิญอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป
เลื่อนขึ้นด้านบน