กสม. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

07/09/2566 837
เมื่อวันที่ 6 – 7 กันยายน 2566 ที่โรงแรมพิมานการ์เด้น บูติก โฮเทล จังหวัดขอนแก่น นางสาวสุภัทรา นาคะผิว และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม. เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาและข้อเสนอแนะเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การรับฟังความคิดเห็นเรื่องสถานการณ์ในพื้นที่ อุปสรรคของการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการจัดทำข้อเสนอในการทำงานร่วมกันต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีประชาชนจากกลุ่มต่าง ๆ เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งเรื่องที่ดิน เหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มผู้มีความหลากหลาย กลุ่มคนไร้บ้าน การชุมนุม การศึกษา สิทธิผู้บริโภค สื่อมวลชน เป็นต้น
.
นางสาวสุภัทรา นาคะผิว และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจัดตั้งและการดำเนินงานตามหลักการปารีส (Paris Principles) ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ (National Human Rights Institution) โดยมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติ มาตรา 247 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 และ มาตรา 26 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 การทำงานที่สำคัญคือ การตรวจสอบเรื่องร้องเรียน การคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุภารกิจตามหน้าที่และอำนาจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความร่วมมือกับเครือข่าย ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยการตรวจสอบการทำงานและส่งต่อข้อมูลซึ่งกันและกัน กสม. ต้องหาพันธมิตรการทำงานและคนทำงานที่เป็นเพื่อนร่วมทาง ซึ่งก็คือ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้
.
ในการประชุมดังกล่าว มีการแบ่งกลุ่มย่อยตามประเด็น เพื่อให้มีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้การทำงานของพื้นที่ และมีการนำเสนอความคิดเห็นทั้งต่อ กสมง และสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการประสานการทำงานเป็นเครือข่าย ภายหลังเสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็น มีการยื่นเรื่องร้องเรียนของกลุ่มแรงงานเก็บเบอร์รี่ และมีการยื่นข้อเสนอแนะจากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดังนี้
.
1. การใช้มาตการเชิงรุกในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เช่น การลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบทันทีที่มีการแจ้งการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือการแต่งตั้งคณะทำงานในการตรวจสอบการละเมิด การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การกำหนดแนวทางการประสานงานกับหน่วยราชการเพื่อคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
.
2. การทำความเข้าใจและบันทึกความเข้าใจหรือข้อตกลงกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้เข้าใจบทบาทของประชาชนที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และจัดทำมาตรการป้องกันมิให้มีการละเมิด ตลอดจนติดตามข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานรัฐหรือเอกชนในการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
.
3. การทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยกับหน่วยงานรัฐ รวมถึงผลักดันให้มีการดำเนินการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
.
4. การสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในการจัดทำข้อมูลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน และในการจัดทำรายงาน ควรระบุข้อจำกัดขององค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้รัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรี พิจารณาเพิ่มเติมทรัพยากรให้องค์กรหรือหน่วยงานนั้นในการปกป้องและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
.
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เมื่อปี พ.ศ. 2541 มีสาระสำคัญ คือ การรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณะ รวมถึงเสนอปัญหาการดำเนินงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคหรือมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้การดำเนินงานอย่างสันติ โดยรัฐมีหน้าที่ในการประกันสิทธิมนุษยชนของทุกคน เพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกคุมคามและการใช้ความรุนแรง
.
ประเทศไทยยังไม่มีการนิยามคำว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน มีเพียงแต่การกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติที่แตกต่างกันไป เช่น “ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” “นักสิทธิมนุษยชน” หรือ “ผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน” โดยในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2562 – 2565 พบว่าสถานการณ์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่ เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณชนหรือการฟ้องปิดปาก (SLAPPs) ซึ่งเป็นเรื่องที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญจำนวนมาก
เลื่อนขึ้นด้านบน