กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 24/2567 กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเพจ “สืบนครบาล IDMB” ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ต้องหาและเหยื่อ แนะ ตร. กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด - ตรวจสอบการขอตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลชานอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ร้อยเอ็ด แนะทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนพิจารณาอนุญาตให้ประกอบกิจการ

11/07/2567 272

                วันที่ 11 กรกฎาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 24/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. ตรวจสอบกรณีร้องเรียนเพจ “สืบนครบาล IDMB” ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผู้ต้องหาและเหยื่อ แนะ ตร. กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามระเบียบอย่างเคร่งครัด และเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2566 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มหนึ่งได้เผยแพร่ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และคลิปเสียงของผู้ต้องหาในคดีอาญาลงในสื่อสังคมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันเฟซบุ๊ก เพจ “สืบนครบาล IDMB” จำนวนหลายครั้งในหลายคดี โดยผู้ต้องหาตกอยู่ในภาวะจำยอม ซึ่งการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงและมูลเหตุในการกระทำความผิดอันเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องหา อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอข้อมูลของเหยื่อที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือผู้เสียหายในคดีอาญาที่อาจไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เสียหายโดยตรงมาเผยแพร่อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงของทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 และมาตรา 32 บัญญัติคุ้มครองมิให้มีการกระทำอันเป็นการละเมิดหรือกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว รวมทั้งมิให้นำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ประโยชน์ไม่ว่าในทางใด ๆ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติรับรองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวตลอดจนการให้ความคุ้มครองและป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล นอกจากนี้ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2556 ยังกำหนดห้ามให้ข่าว แถลงข่าว หรือให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือจะเกิดการเสียหายทั้งชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดฐานทำให้แท้งลูก ความผิดฐานหมิ่นประมาท และห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนถ่ายภาพ สัมภาษณ์ หรือให้ข่าวของผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมของตำรวจ เหยื่ออาชญากรรมหรือผู้เสียหาย รวมทั้งภาพที่มีลักษณะอุจาดหรือทารุณโหดร้าย หรือล่วงละเมิดสิทธิบุคคล หรือส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เว้นแต่พนักงานสอบสวนดำเนินการเพื่อประโยชน์แห่งคดีหรือได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหา เหยื่ออาชญากรรม หรือผู้เสียหาย แล้ว

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เพจเฟซบุ๊ก “สืบนครบาล IDMB” มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัยให้แก่ประชาชนและสังคม โดยได้เผยแพร่คลิปวิดีโอการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนจับกุมปราบปรามอาชญากรรมหลายคลิปวิดีโอในหลายคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเตือนภัยอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ การนำเสนอวิธีการป้องกันภัยอาชญากรรม การรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด และเป็นช่องทางการสื่อสารขอความช่วยเหลือ แจ้งเหตุเดือดร้อนระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ ยังเป็นช่องทางเผยแพร่การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อสังคม ซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและเข้าข่ายการปฏิบัติที่ได้รับการยกเว้นจากการใช้บังคับของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ตามมาตรา 4 (2) และ (5) ที่บัญญัติไว้ว่าพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาความปลอดภัยของประชาชน รวมทั้งการดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

            อย่างไรก็ดี แม้เพจเฟซบุ๊ก “สืบนครบาล IDMB” จะเผยแพร่คลิปวิดีโอการเข้าจับกุมผู้กระทำความผิด ตลอดจนการพูดคุยระหว่างผู้ถูกร้องกับผู้ต้องหา โดยมีการเบลอภาพเพื่อปกปิดใบหน้าหรืออัตลักษณ์ของผู้ต้องหาแล้ว แต่พบว่ามีบางคลิปวิดีโอที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้สัมภาษณ์ผู้ต้องหาในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่แม้ไม่ได้ระบุข้อมูลของเหยื่อหรือผู้เสียหายโดยตรงและผู้ต้องหาให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่การให้ความยินยอมดังกล่าวอาจเนื่องมาจากผู้ต้องหาตกอยู่ในภาวะจำยอมไม่ได้เกิดจากความสมัครใจอย่างแท้จริง และการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนของผู้ต้องหา เช่น น้ำเสียง รูปพรรณสัณฐาน ประกอบกับบริบทแวดล้อมและพฤติการณ์ของคดี ก็อาจทำให้บุคคลในพื้นที่ทราบว่าเหยื่อหรือผู้เสียหายคือใคร ดังนั้น การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวของผู้ถูกร้องในกรณีดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าวฯ และหลักการในการคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคล ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติกา ICCPR ให้การรับรอง จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเหยื่อหรือผู้เสียหาย 

            นอกจากนี้ การเผยแพร่คลิปวิดีโอถ่ายทอดเรื่องราวการกระทำความผิดของผู้ต้องหา อาจกระทบต่อหลักการสันนิษฐานบุคคลว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล ซึ่งเป็นหลักความเป็นธรรมพื้นฐานที่ให้กับจำเลย นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อสิทธิของผู้ต้องหาที่จะให้การเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองมิได้ การเผยแพร่คลิปวิดีโอในลักษณะดังกล่าวจึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย 

            ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาของผู้ถูกร้องให้ตรวจสอบคลิปวิดีโอสัมภาษณ์ผู้ต้องหาที่โพสต์บนเพจเฟซบุ๊ก สืบนครบาล IDMB” แล้วดำเนินการไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดีลักษณะที่ 30 การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชนและการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ พ.ศ. 2556 และกำชับเจ้าหน้าที่ในสังกัดให้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว อย่างเคร่งครัด มิให้นำเสนอข้อมูลที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือเปิดเผยอัตลักษณ์ของผู้ต้องหาหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงข้อมูลที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปทราบถึงตัวตนของเหยื่อหรือผู้เสียหายในคดีที่มีความอ่อนไหว เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ อันจะเป็นการกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจนเกินสมควรแก่กรณี และไม่สอดคล้องกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ (presumption of innocence) อันจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            2. กสม. ตรวจสอบกรณีการขอตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลชานอ้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ จ. ร้อยเอ็ด แนะทบทวนกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนการพิจารณาอนุญาต

            นางปรีดา  คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง เมื่อเดือนมกราคมและมิถุนายน 2566 ระบุว่า การตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลชานอ้อยของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 1) ในพื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน และขาดการมีส่วนร่วม รวมทั้งการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแดงของบริษัทเอกชนอีกแห่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งมีแนวเขตติดต่อกันกับโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลชานอ้อยของผู้ถูกร้องที่ 1 อาจเข้าข่ายเป็นการแยกขออนุญาตดำเนินโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด (ผู้ถูกร้องที่ 3) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแดงของผู้ถูกร้องที่ 2 แต่มิได้เปิดเผยข้อมูลให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบอย่างครบถ้วน จึงขอให้ตรวจสอบ 

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 58 ระบุว่าในกรณีที่รัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชน รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด โดยบุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลและคำชี้แจงจากหน่วยงานของรัฐก่อนการอนุญาต 

            จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า โครงการของผู้ถูกร้องที่ 1 ยังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการขออนุญาตตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และโครงการของผู้ถูกร้องที่ 2 ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแดง จึงยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างเป็นรูปธรรมหรือพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ว่าการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลชานอ้อยของผู้ถูกร้องที่ 1 และโรงงานน้ำตาลทรายแดงของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิชุมชน สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในสุขภาพของผู้ร้อง อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงที่สามารถพิจารณาต่อไปได้ว่า หากโรงงานของผู้ถูกร้องทั้งสองได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ อาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อชุมชน เนื่องจากโครงการของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 มีลักษณะเป็นการประกอบกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ บนพื้นที่ตั้งรวมกันกว่า 700 ไร่ และด้วยการประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลมักจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลายรูปแบบ เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 จากการเผาใบอ้อย ฝุ่นละอองจากการหีบอ้อยและการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้า กลิ่นเหม็นจากโรงงานน้ำเสียที่อาจรั่วไหลออกนอกพื้นที่โครงการ เป็นต้น และเมื่อทั้งสามโรงงานตั้งอยู่ในอาณาบริเวณติดต่อกัน ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจึงอาจจะเกินกว่าขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (carrying capacity) จนสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสิทธิชุมชน สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิในสุขภาพได้ ทั้งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำสำหรับการทำนาข้าว การเลี้ยงปศุสัตว์ รวมถึงการใช้ประโยชน์แหล่งน้ำผิวดินอีกด้วย 

            นอกจากนี้ กสม. เห็นว่า โครงการของผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 ยังเป็นโครงการที่จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมถึงการประกอบอาชีพของประชาชนในพื้นที่โครงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากแต่เดิมประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ ในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ และเกษตรแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่กว่า 40,000 ไร่ เลี้ยงวัวไล่ทุ่ง รวมถึงมีการใช้ประโยชน์จากทุ่งกุลาร้องไห้ในหลายรูปแบบ เช่น การจับปลาหลดและไส้เดือนขาย การเก็บหาของป่า เป็นต้น จึงอาจเกิดข้อพิพาทในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันอย่างมีนัยสำคัญได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ การตั้งโรงงานของผู้ถูกร้องที่ 1 และ 2 อาจทำให้เกษตรกรไม่สามารถขอรับการรับรองมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ ซึ่งต้องมีการควบคุมการปนเปื้อนของมลพิษจากดิน น้ำ อากาศ จนส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายและส่งออกข้าวในอนาคตได้

            ส่วนประเด็นร้องเรียนเรื่องการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการขออนุญาตตั้งโรงงาน เห็นว่า การประกอบกิจการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ของผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการดังกล่าว โดยผู้ถูกร้องที่ 1 ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 1 ครั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ อย่างไรก็ดี เห็นว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ถูกร้องที่ 1 เพียงครั้งเดียว ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง และมีช่วงเวลารับฟังความคิดเห็นเพียง 90 นาที ขณะที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมกว่า 700 คน และยังเป็นการกำหนดวันรับฟังความคิดเห็นในช่วงฤดูทำนา รวมทั้งกำหนดสถานที่จัดเวทีห่างจากสถานที่ตั้งโรงงานกว่า 12 กิโลเมตร จึงเห็นว่า การรับฟังความคิดเห็นครั้งดังกล่าวภายใต้ระยะเวลาอันจำกัดส่งผลให้ผู้เข้าร่วมไม่สามารถสะท้อนข้อคิดเห็นหรือความวิตกกังวลของตนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการสำคัญของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามประกาศสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 จึงถือว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

            สำหรับประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการอนุญาตให้ตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแดงของผู้ถูกร้องที่ 2 เห็นว่า โรงงานน้ำตาลทรายแดงไม่เข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เนื่องจากการใช้พลังงานความร้อนในการผลิตและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการผลิตน้ำตาลทรายแดงมีน้อยกว่าการผลิตน้ำตาลทรายดิบ น้ำตาลทรายขาว หรือน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ ผู้ถูกร้องที่ 2 จึงไม่ต้องจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียตามขั้นตอนของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ยังต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียด้วยวิธีปิดประกาศ ตามระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาออกใบรับแจ้งประกอบกิจการโรงงาน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และใบอนุญาตขยายโรงงาน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน พ.ศ. 2555 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ถูกร้องที่ 3 ซึ่งผู้ถูกร้องที่ 3 ได้ปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบข้างต้น และมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน 1 วัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนดแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเอกสารที่เผยแพร่เพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นพบว่า เอกสารดังกล่าวมีเพียงข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งโรงงานน้ำตาลของผู้ถูกร้องที่ 2 โดยสังเขปและเป็นข้อมูลในเชิงเทคนิค ซึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียทราบและเข้าใจรายละเอียดของโครงการดังกล่าวได้อย่างครบถ้วนและรอบด้าน 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังบริษัทเอกชนผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ถูกร้องที่ 3 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโยธาธิการและผังเมือง ส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สรุปได้ดังนี้ 

            (1) ข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 จัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ อีกครั้ง โดยกำหนดจำนวนวัน ระยะเวลา ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมและประเด็นที่กำหนดในการรับฟังความคิดเห็น ตลอดจนต้องกำหนดสถานที่และช่วงเวลาให้เหมาะสมและสะดวกสำหรับกลุ่มเป้าหมายด้วย โดยให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมสังเกตการณ์การจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผู้ถูกร้องที่ 1 

            (2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 พิจารณาทบทวนทางเลือกที่ตั้งโครงการเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจ และให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้ถูกร้องที่ 3 กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการตั้งโรงงานน้ำตาลทรายแดงของผู้ถูกร้องที่ 2 อีกครั้ง โดยการเผยแพร่ข้อมูลที่ครบถ้วนเพียงพอเพื่อประกอบการแสดงความคิดเห็น ทั้งนี้ ให้อำเภอปทุมรัตต์ สถานีตำรวจภูธรปทุมรัตต์ และสถานีตำรวจภูธรบ้านบัวขาว ร่วมกันจัดทำแผนการเฝ้าระวังและช่องทางรับแจ้งเหตุการณ์ข่มขู่คุกคามประชาชนอันเนื่องมาจากการคัดค้านโครงการของผู้ถูกร้องที่ 1 และผู้ถูกร้องที่ 2 รวมทั้งแผนการรักษาความปลอดภัยสำหรับการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็น โดยจะต้องมิให้เป็นอุปสรรคหรือส่งผลกระทบต่อการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

            (3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ศึกษาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมจังหวัดร้อยเอ็ด พ.ศ. 2560 เพื่อกำหนดให้พื้นที่ทำนาข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้ของอำเภอปทุมรัตต์ เป็นที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

11 กรกฎาคม 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน