นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเชิญให้เป็นเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ และเทศกาลสิทธิมนุษยชนภาคอีสานครั้งที่ ๘ “๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน”

01/12/2560 838

๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน

          เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้รับเชิญให้เป็นเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการ และเทศกาลสิทธิมนุษยชนภาคอีสานครั้งที่ ๘ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : สิทธิชุมชนอีสานอย่ตรงไหน” ซึ่งจัดโดยศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชนและสันติวิธี ศูนย์วิจัยการเมืองท้องถิ่นอีสานและอาเซียน วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (HBS) เดอะอีสานเรคคอร์ด (IR) กป.อพช.อีสาน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (AI) จัด ณ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม โดยมีตัวแทนชาวบ้านและนักศึกษาประมาณ ๔๐๐ คน เข้าร่วมการเสวนาวิชาการ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงประมาณ ๑๐๐ คน มาร่วมสังเกตการณ์

          นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวถึงถาการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคอีสาน ว่า ภาคอีสานมีความตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนจากการที่ บรรดาแม่ๆ” ต่างลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องพื้นที่ เป็นนักป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อีสาน การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน หรือการจัดกิจกรรม Walk for Rights เป็นต้น ความตื่นตัวด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่อีสานเกิดมาจากนโนบายต่างที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ และมีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้รับผลกระทบมากด้วยเช่นกัน ดังกรณีของพ่อเด่น คำแหล้ ซึ่งเป็นนักต่อสู้เรื่องที่ดินและได้หายตัวไป การต่อสู้ของภาคประชาชนมีปรากฏในรายงานว่าด้วยสิทธิพลเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ต้องมีการตีความว่า การเมือง” คืออะไร การเมืองและพลเมืองเป็นเรื่องที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ประเทศไทยต้องยืนยันในหลักการของสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และหลักประชาธิปไตย โดยต้องรับฟังเสียงของประชาชน ต้องมีกลไกการตรวจสอบที่เป็นอิสระ และประชาชนต้องมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ข้อท้าทายของประเทศไทยในขณะนี้ คือ การสร้างความสมดุลระหว่างความมั่นคงของชาติกับความมั่นคงของประชาชน” ทั้งนี้ นอกจากรัฐธรรมนูญแล้ว ประเทศไทยยังมีอนุสัญญาที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอีก ๗ ฉบับ ซึ่งจะเป็นหลักประกันเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนด้วย

          การเสวนาทางวิชาการ และเทศกาลสิทธิมนุษยชนภาคอีสานครั้งที่ ๘ มีการเสวนาในหัวข้อ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนอีสานในปัจจุบัน” ซึ่งผู้เข้าร่วมการเสวนาได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ความยากลำบากของชาวบ้านในการชุมนุม ซึ่งถือเป็นวิธีการเดียวที่ประชาชนสารถทำได้เพื่อปกป้องพื้นที่อันเป็นผลมาจากพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ๒๕๕๘ และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ การแทรกแซงในพื้นที่ของฝ่ายความมั่นคง มีการฟ้องร้องชาวบ้านมากขึ้นจากการต่อสู้เพื่อรักษาทรัพยากรและการดำรงไว้ซึ่งสิทธิชุมชน โดยเปลี่ยนจากการฟ้องร้องโดยเอกชน กลายเป็นชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องร้อง เป็นต้น

          การเสวนาทางวิชาการ สิทธิมนุษยชนอีสานภายใต้บริบทการพัฒนา และการทำให้เป็นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” โดยมีนักวิชาการในพื้นที่ร่วมเสวนา ได้กล่าวถึงการพัฒนาที่แย่งชิงทรัพยากร การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของพื้นที่อีสานที่เกิดจากการเร่งการพัฒนามากจนเกินกว่าพื้นที่จะรับได้ และมีตัวแทนชุมชนต่างๆ นำเสนอประเด็นสถานการณ์ในพื้นที่โดยมีเอกอัครราชทูตจากราชอาณาจักรสวีเดน สาธารณรัฐฟินแลนด์ สหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) รวมทั้งผู้แทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา และผู้แทนจากสถานทูตประเทศแคนนาดา ร่วมรับฟังในประเด็นต่างๆ ดังนี้ ประเด็นพื้นที่ชุ่มน้ำห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว ซึ่งจะมีการตั้งโรงงานในพื้นที่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ประเด็นการขุดเจาะปิโตรเลียม โดยไม่รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในพื้นที่นามูน – ดูนสาด จังหวัดขอนแก่น และหนองกุงศรีจังหวัดกาฬสินธุ์ ประเด็นเหมืองแร่โปแตซ ในพื้นที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และอำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ประเด็นเหมืองทองคำ อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประเด็นโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร ประเด็นที่ดิน และป่าไม้ ของกลุ่มไทบ้านผู้ไร้สิทธิสกลนคร และเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน รวมถึงการคัดค้านการประกาศอุทยานแห่งชาติภูผายา และโรงโม่หิน ในอำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู ประเด็นการตั้งโรงงานยางพารา ในชุมชน ของกลุ่มอนุรักษ์คอนสาร จังหวัดชัยภูมิ และผลกระทบจากโรงงานยางพาราในตำบลหนองนาคำ จังหวัดอุดรธานี ประเด็นเขื่อนปากมูล ซึ่งมีผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ประเด็นผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกผลักไสออกจากชุมชน โดยกลุ่มบ้านรวมใจ จังหวัดร้อยเอ็ด และประเด็นเครือข่ายคนไร้บ้าน ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น ภายหลังการพัฒนาเขตเมืองและระบบรางรถไฟ ในจังหวัดขอนแก่น

          เอกอัครราชทูตจากราชอาณาจักรสวีเดน สาธารณรัฐฟินแลนด์ และสหราชอาณาจักร (ประเทศอังกฤษ) รวมทั้งผู้แทนจากสถานทูตสหรัฐอเมริกา และผู้แทนจากสถานทูตประเทศแคนนาดา รวมถึงนางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากชุมชนที่เข้าร่วมการเสวนาวิชาการในช่วงบ่าย นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมขององค์กรร่วมจัดต่างๆ ทั้ง กลไกสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิ โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย (AI) ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CRCF) และโครงการจัดตั้งสมาคมการเมืองและความยุติธรรมแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SAPJA) และการรับฟังความเห็นต่อการปรับปรุงหลักสูตร ศศ.บ. (สิทธิมนุษยชน) เป็นต้น

          การจัดการสัมมนาทางวิชาการ และเทศกาลสิทธิมนุษยชนภาคอีสานครั้งที่ ๘ ๗๐ ปี ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน : สิทธิชุมชนอีสานอยู่ตรงไหน” เป็นการร่วมกันระหว่างองค์กรต่างๆ ในการทบทวนและร่วมกันเสนอแนะว่า ๗๐ ปีที่ผ่านมา สถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นอย่างไร และจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร และถือเป็นช่องทางให้ชุมชน และเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรระดับโลก องค์กรระดับชาติ และองค์กรระดับท้องถิ่น ได้พบปะแลกเปลี่ยนกัน โดยมีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นข้อต่อเชื่อมกลางในการจัดกิจกรรมดังกล่าว

เลื่อนขึ้นด้านบน