กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 14/2567 กสม. ตรวจสอบโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง จ. ภูเก็ต หวั่นกระทบทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน - เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

26/04/2567 1425

วันที่ 26 เมษายน 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 14/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

1. กสม. เผยผลการตรวจสอบกรณีโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง จ. ภูเก็ต หวั่นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน

               นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้ง เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ระบุว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต (ผู้ถูกร้อง) จะดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง (ท่าเล) จังหวัดภูเก็ต ผู้ร้องเห็นว่าบริเวณดังกล่าวไม่มีสภาพเป็นร่องน้ำเดิม แต่เป็นป่าชายเลนที่ชุมชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ หากขุดลอกร่องน้ำอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน เนื่องจากชายฝั่งทะเลบ้านอ่าวกุ้งมีสภาพค่อนข้างตื้นและล้อมรอบด้วยป่าชายเลน มีปลาชุกชุม รวมทั้งเป็นแหล่งที่พบปะการังน้ำตื้น โดยเฉพาะกัลปังหาสีแดงซึ่งพบเป็นแหล่งสุดท้าย การขุดลอกร่องน้ำจึงอาจเป็นการทำลายระบบนิเวศ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล นอกจากนี้ในพื้นที่ดังกล่าวมีท่าเรือและร่องน้ำเดิมที่เรือสัญจรเข้าออกได้และเพียงพอต่อจำนวนเรือของชาวประมงพื้นบ้าน ผู้ถูกร้องไม่ได้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และโครงการอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือของเอกชน จึงขอให้ตรวจสอบ

 

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ให้การรับรองสิทธิของบุคคลและชุมชนในการมีส่วนร่วมในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน ในกรณีที่รัฐจะดำเนินการใดหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการอาจมีผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องจัดให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ประชาชน และชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ที่ได้รับรองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดและการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน

 

จากการตรวจสอบ พบว่า อ่าวกุ้ง (ท่าเล) อยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 ซึ่งมีข้อกำหนดว่า พื้นที่ทะเลรอบเกาะภูเก็ตและรอบเกาะบริวารต่าง ๆ ห้ามดำเนินกิจกรรมการขุดลอกร่องน้ำ เว้นแต่เป็นการบำรุงรักษาทางน้ำหรือการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ และห้ามกระทำด้วยประการใดที่อาจเป็นอันตรายหรือมีผลกระทบต่อปะการัง ซากปะการัง หินปะการัง กัลปังหา หรือหญ้าทะเล และห้ามเปลี่ยนสภาพธรรมชาติของป่าชายเลน เว้นแต่ได้รับอนุญาต และต้องได้รับความเห็นจากคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ก่อนดำเนินการ

 

กสม. เห็นว่า การดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ผู้ถูกร้อง ไม่ได้เสนอโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลและติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการขุดลอกร่องน้ำ แม้จะมีองค์ประกอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางส่วนร่วมเป็นกรรมการและได้สอบถามความเห็นแล้ว แต่การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฯ และไม่ครอบคลุมการพิจารณาในมิติของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นประเด็นหลักที่มีความสำคัญตามลักษณะความพิเศษของพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม จึงไม่สอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 57 และมาตรา 58 ในการศึกษาและประเมินผลกระทบอย่างเหมาะสม รวมทั้งการพิจารณาอย่างรอบด้าน รัดกุม เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

 

ส่วนประเด็นความเหมาะสมในการดำเนินโครงการ พบว่า พื้นที่โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญของเอกชนบางส่วนทับซ้อนกับพื้นที่ป่าชายเลน และยังมีข้อพิพาทเรื่องลำรางและทางสาธารณะกับชาวบ้าน สอดคล้องกับข้อสังเกตของศาลจังหวัดภูเก็ต ตามคดีหมายเลขแดงที่ อ 833/2565 ว่า การนำชี้แผนที่พิพาทไม่ตรงกับจำนวนเนื้อที่ในเอกสารสิทธิที่ดินของเจ้าของโครงการท่าเทียบเรือสำราญ อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่พบการลักลอบตัดต้นไม้ชายเลน ซึ่งอยู่ในแนวที่จะขุดลอกร่องน้ำ แม้ปัจจุบันผู้ถูกร้องจะยังไม่ได้รับเรื่องเพื่อขอให้ออกใบอนุญาตขุดลอกร่องน้ำจากหน่วยงานใด และกรมเจ้าท่ายังไม่ได้จัดทำคำของบประมาณการขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง แต่จากข้อเท็จจริงข้างต้น หากมีการขุดลอกร่องน้ำสาธารณะอ่าวกุ้ง ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง ทั้งความไม่ชัดเจนของพื้นที่ และผลกระทบในอนาคตต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการใช้ประโยชน์ของชุมชน อันอาจนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

สำหรับประเด็นว่าพื้นที่ดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง มีสภาพเป็นร่องน้ำที่มีอยู่เดิมเพื่อการเดินเรือหรือไม่ ยังคงมีข้อถกเถียงจากการตีความภาพถ่ายทางอากาศ โดยกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านอ่าวกุ้งได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการเพื่อศึกษาข้อกฎหมายฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต เป็นคดีต่อศาลปกครองภูเก็ต เพื่อขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการดังกล่าวที่เห็นว่า ร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) มีสภาพเป็นร่องน้ำเดิม และเห็นชอบให้ขุดลอกร่องน้ำอ่าวกุ้ง (ท่าเล) ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้อง จึงสอดคล้องตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลแล้ว จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้

 

ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

1) ให้กรมเจ้าท่าพิจารณาทบทวนโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง เนื่องจากเป็นโครงการหรือกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

2) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกำชับหน่วยงานในพื้นที่ กรณีที่จะดำเนินโครงการหรือกิจกรรมในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ชุ่มน้ำ ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2560 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2543 และวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่องการขึ้นทะเบียนพื้นที่ชุ่มน้ำ และมาตรการอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ อย่างเคร่งครัดต่อไป

 

3) ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนบริเวณที่จะดำเนินโครงการขุดลอกร่องน้ำสาธารณประโยชน์อ่าวกุ้ง โดยให้ชุมชนชายฝั่งมีส่วนร่วม นอกจากนี้ให้ร่วมกับสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง ตรวจสอบแนวเขตป่าชายเลนบริเวณอ่าวกุ้ง เนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงว่าพื้นที่ป่าชายเลนบางส่วนและทางสาธารณะอาจทับซ้อนกับที่ดินของเอกชน

 

4) ให้คณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กำหนดกลไกการตรวจสอบและกลั่นกรองการดำเนินโครงการในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งที่มีลักษณะอาจส่งผลกระทบต่อการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอาจให้คณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัด ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองโครงการเบื้องต้นเพื่อให้ความเห็นหรือคำแนะนำต่อผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ

 

2. กสม. เผยผลตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาสภาพความเป็นอยู่ของผู้ถูกควบคุมตัวให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน

 

 

นายบุญเกื้อ  สมนึก ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ดำเนินโครงการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวซึ่งเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อส่งเสริมให้การปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม โดยตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 - มิถุนายน 2566 คณะผู้ตรวจเยี่ยมของ กสม. ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวจำนวน 16 แห่ง ประกอบด้วยเรือนจำ ห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน สถานที่คุ้มครองกลุ่มคนเปราะบาง และศูนย์ซักถาม/ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้รับทราบข้อเท็จจริง สภาพปัญหา อันสมควรมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ 8 ประเด็น ดังนี้

 

1) ปัญหาความแออัดของสถานที่ควบคุมตัว และสภาพสถานที่ควบคุมตัวไม่เหมาะสม เรือนนอนของสถานที่ควบคุมตัวมีขนาดพื้นที่น้อยกว่ามาตรฐานสากลขององค์การสหประชาชาติ ส่งผลต่อสภาพความเป็นอยู่และระบบการบริหารจัดการสถานที่ควบคุมตัว เช่น ความเครียดของผู้ถูกควบคุมตัวและเจ้าหน้าที่ การเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่เพียงพอ และการขาดสุขอนามัยในสถานที่ควบคุมตัว ซึ่ง กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สถานที่ควบคุมตัวโดยเฉพาะเรือนจำมีสภาพแออัดมาจากการใช้โทษทางอาญามากเกินความจำเป็น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่มีโทษทางอาญามากกว่า 400 ฉบับ จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้รัฐสภาพิจารณาใช้นโยบายลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) สำหรับความผิดบางประเภท เช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดฐานหมิ่นประมาท ความผิดเกี่ยวกับเช็ค ไม่ตรากฎหมายใหม่ที่มีโทษทางอาญาโดยไม่จำเป็นและไม่ได้สัดส่วน พิจารณาความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียวและมีเนื้อหาความผิดเพียงเล็กน้อยให้อยู่ในบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย เพื่อเปลี่ยนความผิดลหุโทษที่มีโทษปรับสถานเดียวให้เป็นความผิดทางพินัย และให้ถืออัตราค่าปรับความผิดลหุโทษเป็นอัตราค่าปรับทางพินัยแทน รวมทั้งให้ควบคุมตัวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำ ทั้งนี้ ตามมาตรา 89/1 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

 

นอกจากนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เร่งรัดการก่อสร้างสถานที่ควบคุมตัวแห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ควบคุมผู้ต้องกักตามมาตรฐานสากล รวมทั้งให้กรมราชทัณฑ์ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ตร. และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงสถานที่ควบคุมตัวให้ถูกสุขอนามัย มีระบบระบายอากาศ และแสงสว่างเพียงพอด้วย

 

2) ปัญหาการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข มีจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อการให้บริการผู้ถูกควบคุมตัว ต้องรอพบแพทย์เป็นเวลานานและเรือนจำมีการบังคับตรวจเชื้อเอชไอวีผู้ต้องขังเข้าใหม่ จึงมีข้อเสนอแนะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง และผู้ต้องกักให้ครอบคลุมทั้งกลางวันและกลางคืน และเพิ่มบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลผู้ต้องขังและผู้ต้องกักที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน และให้กรมราชทัณฑ์ยกเลิกการบังคับตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวีผู้ต้องขังเข้าใหม่ สนับสนุนให้มีการตรวจเชื้อไวรัสเอชไอวีโดยสมัครใจ และไม่เปิดเผยชื่อผู้ต้องขังผู้ถูกตรวจ

 

3) ปัญหาการกักตัวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาในสถานที่ควบคุมตัวโดยเฉพาะห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งมีการกักตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์ และชาวโรฮีนจา โดยไม่กำหนดระยะเวลาการปล่อยตัวที่ชัดเจน จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. มีนโยบายเร่งรัดให้ผู้ต้องกักเข้าถึงกลไกคัดกรองระดับชาติ (National Screening Mechanism) เพื่อให้สถานะ “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” โดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ ต้องจัดทำทะเบียนประวัติคนต่างด้าวและอนุญาตให้ออกไปทำงานได้โดยจำกัดพื้นที่ ตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงเร่งขยายความร่วมมือกับประเทศที่สามเพื่อหาทางออกที่ยั่งยืนให้แก่ผู้หนีภัยกลุ่มต่าง ๆ ตามที่ประเทศไทยเคยให้คำมั่นไว้ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลก (Global Refugee Forum: GRF) ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนธันวาคม 2566

 

4) ปัญหาการกักตัวเด็กในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองซึ่งมีสภาพแออัด ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านร่างกาย สติปัญญา จิตใจ และสังคมของเด็ก จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. เร่งทบทวนและปรับปรุงการใช้มาตรการทางเลือกแทนการกักตัวเด็กและครอบครัวในห้องกักตรวจคนเข้าเมือง นอกจากนี้ให้ ตร. จัดอบรม ติดตามผล และกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินงานตามหลักปฏิบัติว่าเด็กจะต้องไม่ถูกกักตัว เว้นแต่เป็นมาตรการสุดท้าย และใช้เวลาสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

5) ปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ สถานที่ควบคุมตัวส่วนใหญ่ประสบปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานน้อยกว่าอัตรากำลังจริง เจ้าหน้าที่ขาดความเชี่ยวชาญและความต่อเนื่องในการปฏิบัติหน้าที่ จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. พิจารณาเพิ่มอัตรากำลังให้เพียงพอต่อปริมาณงานของสถานที่ควบคุมตัว โดยพิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย และพิจารณาหามาตรการที่สร้างขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานในสถานที่ควบคุมตัว เช่น การกำหนดเวลาการทำงานที่เหมาะสม การกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน และการจัดสวัสดิการ เป็นต้น

 

6) ปัญหางบประมาณไม่เพียงพอ เช่น ค่าอาหาร งบประมาณในการจัดซื้อกล้องวงจรปิด การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเวรรักษาการล่าช้า โดยมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงยุติธรรมและ ตร. จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอโดยเฉพาะงบประมาณสำหรับค่าอาหารของผู้ถูกควบคุมตัว ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเวรรักษาการของเจ้าหน้าที่   

 

7) ปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ปัจจุบันมีผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีอยู่ในเรือนจำ กว่า 55,000 คน หรือร้อยละ 20 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด โดยผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีไม่ถูกจำแนกให้ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างและเหมาะสมกับสถานะที่ไม่ใช่ผู้ต้องขังเด็ดขาด จึงมีข้อเสนอแนะให้ ครม. เร่งพิจารณาปรับปรุงกฎกระทรวงที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 เพื่อจำแนกผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีออกจากผู้ต้องขังเด็ดขาดเพื่อให้ได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมกับสถานะ

 

8) ปัญหาการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ซึ่งประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในกระบวนการซักถาม ไม่ได้เปิดโอกาสให้ทนายความ ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกควบคุมตัวไว้วางใจเข้าร่วมฟังและให้คำปรึกษา จึงมีข้อเสนอแนะให้นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มอบหมายให้ศูนย์ซักถาม หน่วยข่าวกรองทหารส่วนหน้า และศูนย์ซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานในพื้นที่ ดำเนินการให้ผู้ถูกจับกุมได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะเข้าถึงที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความ เพื่อช่วยเหลือในการต่อสู้คดีตั้งแต่แรกเมื่อถูกจับกุม เชิญตัว และควบคุมตัว และให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินการซักถาม โดยใช้ห้องทำงานทั่วไปของเจ้าหน้าที่ หรือห้องประชุมทดแทน เพื่อให้มีลักษณะโปร่งใสตรวจสอบได้และไม่เป็นการสร้างบรรยากาศการคุกคามหรือขู่เข็ญ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 อย่างเคร่งครัด

 

 

(ข่าวเสริมประกอบการแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 14/2567)

 

 

               นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เป็นระยะเวลานาน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดยหลายครอบครัวต้องอพยพไปอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อหลบเลี่ยงฝุ่นควันและสารเคมีที่กระจายอยู่รอบบริเวณพื้นที่ นั้น

               คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ได้หารือถึงกรณีดังกล่าว โดยเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นปัญหามลพิษอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในหลายมิติ ทั้งสิทธิในสุขภาพ สิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสิทธิชุมชน โดยที่ผ่านมา กสม. เคยหยิบยกกรณีทำนองเดียวกัน คือ เหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมและพลาสติก บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างขึ้นตรวจสอบแล้ว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโรงงานอุตสาหกรรมในแหล่งชุมชนพื้นที่อื่น ๆ อีก กสม. จึงมีมติหยิบยกกรณีเหตุระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานเก็บกากสารเคมี บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ขึ้นตรวจสอบเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงระบบต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่ทั้งในประเด็นการแก้ไขผลกระทบ การเยียวยาความเสียหาย และการป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้นต่อไป

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 

26 เมษายน 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน