เลขาธิการ กสม. ลงนาม MOU ร่วม 5 สถาบันวิชาการพื้นที่ภาคใต้ มุ่งขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พหุวัฒนธรรม

27/02/2567 828

                         เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ห้อง Sky Blue Auditorium อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ศ.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าร่วมพิธีและกล่าวแสดงความยินดีกับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) กับ มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และสถาบันวิจัยเอเชียเซ็นเตอร์
                         ในพิธีลงนาม MOU ดังกล่าว มีนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้ลงนามในนามสำนักงาน กสม. และสถาบันวิชาการอีก 5 แห่ง ประกอบด้วยผู้แทนลงนาม ดังนี้ (1) มหาวิทยาลัยทักษิณ ลงนามโดย รศ.ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ (2) มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ลงนามโดย รศ. อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี (3) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามโดย ผศ. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ (4) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ลงนามโดย ผศ. เชิดชัย อุดมพันธ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และ (5) สถาบันวิจัยเอเชียเซ็นเตอร์ ลงนามโดยดร.เจมส์ โกเมส ผู้อำนวยการระดับภูมิภาค ทั้งนี้ นางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามดังกล่าวด้วย พร้อมกับแขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมจำนวน 80 คน
                         การจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับสถาบันวิชาการ 5 แห่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้กรอบความร่วมมือ ได้แก่ การพัฒนาหลักสูตรหรือรายวิชาด้านสิทธิมนุษยชน และการจัดให้มีการเรียนรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ นำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่
                         ภายหลังเสร็จสิ้นการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในช่วงบ่าย มีการเสวนา หัวข้อ “ความร่วมมือเครือข่ายสถาบันวิชาการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้” โดย นายแพทย์พิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผศ. สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ ผศ.ดร. อลิสา หะสาเมาะ ดร.เจมส์ โกเมส นายภาณุวัฒน์ ปานแก้ว และนางสาวกูปัทมา กาลีกาตะโป ดำเนินรายการโดย นายดนัย มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษา
                         เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงสภาพปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ และแนวทางความร่วมมือในการทำงานกับเครือข่ายสถาบันวิชาการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ว่า สำนักงาน กสม. ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนางานด้านสิทธิมนุษยชนให้เกิดประโยชน์ และขยายวงออกไป โดยเฉพาะจากสถาบันการศึกษาที่เป็นแหล่งสะสมการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดความรู้ อันจะเป็นประโยชน์ต่องานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ซึ่งสถาบันที่ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับ สำนักงาน กสม. ล้วนมีจุดแข็งและสามารถร่วมมือกันในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เช่น
1)มหาวิทยาลัยทักษิณมีศูนย์นิติชาติพันธุ์ ซึ่งดำเนินการคุ้มครองชนเผ่าพื้นเมืองในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ มอแกน มอแกลน และ อูรักลาโว้ย
2)มหาวิทยาลัยฟาฏอนี เป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนอิสลามแห่งแรกในประเทศไทย มีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ มากกว่า 48 ประเทศ จัดการเรียนการสอนโดยมีวิชาสันติศึกษาเป็นวิชาบังคับ
3)คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีงานวิจัยเกี่ยวกับกฎหมาย และสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ และทำงานร่วมกับเครือข่ายนักปกป้องสิทธิในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
4)คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในการเผยแพร่ข้อมูลและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
5)สถาบันวิจัยเอเชียเซ็นเตอร์ มีองค์ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนในระดับสากล และการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
                         ทั้งนี้ ภายหลังการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ สำนักงาน กสม. จะดำเนินการร่วมกับสถาบันวิชาการ ทั้ง 5 แห่ง จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน