รองเลขาธิการ กสม. ประชุมร่วมกับ กอ.รมน.ภาค 4 สน. หารือแนวทางการดำเนินการตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม.

18/08/2566 286

                         เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) ค่ายสิรินธร อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นางสาวรตญา 
กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายดนัย  มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง กอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้แก่ (1) พลตรีปราโมทย์  พรหมอินทร์ รอง.ผอ.กอ.รมน.
ภาค 4 สน. (2) พันเอกเฉลิมชัย  สุทธินวล ผอ. สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน. (3) พันเอกมานะ  ปริญญาศิริ รอง ผอ. สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน.
(4) พันเอกจิระยุส  จันทน์อาภรณ์ รอง ผอ. สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน. (5) พันตำรวจเอกจารุวิทย์  วงศ์ชัยกิตติพร รอง ผอ. สำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน.ภาค 4 สน. และเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรภาค 9 เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เป็นต้น

                         ในการนี้ ที่ประชุมได้ร่วมพิจารณาหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามที่คณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ได้เสนอมายัง กอ.รมน. ภาค 4 สน. แล้ว จำนวน 3 เรื่อง ประกอบด้วย 1) เรื่องสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคงทำร้ายร่างกาย 2) เรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเสรีภาพในเคหสถาน กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักโดยไม่มีหมายค้น และเก็บเยื่อบุกระพุ้งแก้มเพื่อตรวจสารพันธุกรรม และ 3) เรื่องสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และสิทธิของบุคคลในเกียรติยศและชื่อเสียง กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังในระหว่างควบคุมตัวและนำตัวไปชี้สถานที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ รวมทั้งแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนโดยไม่ปิดบังใบหน้า

                         นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในการร่วมกันจัดกิจกรรมอบรมเพื่อสร้างความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดประชาชน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ได้บันทึกข้อมูลการประชุม และจะนำเสนอต่อคณะกรรมการ
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อพิจารณาต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน