รองเลขาธิการ กสม. เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส เพื่อประสานความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และแลกเปลี่ยนการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

21/08/2566 292

                         เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่ห้องปฏิบัติการผู้ว่าราชการจังหวัด ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส นางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายดนัย  มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษา พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.
พื้นที่ภาคใต้ ได้หารือร่วมกับนายสนั่น  พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนราธิวาส ได้แก่ นางอำไพ  ชนะชัย ยุติธรรมจังหวัดนราธิวาส นายอภินันท์ 
ศรียอดแก้ว ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดนราธิวาส นายรุสดี  หะยีมะลี ผู้แทนสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส และว่าที่ร้อยตรี ประจวบ  แก้วไกร ผู้อำนวยกลุ่มงานอำนวยการสำนักงานจังหวัดนราธิวาส

                         การหารือดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อประสานความร่วมมือในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังประสบการณ์การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดนราธิวาส ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์สิทธิมนุษยชน อาทิ คุณภาพชีวิตผู้ต้องขังตามหลักสิทธิมนุษยชน การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินกรณีภัยพิบัติ ประชาชนกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ทั้งนี้ได้ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โกดังเก็บดอกไม้เพลิงระเบิด ซึ่งถือเป็นภัยพิบัติจากมนุษย์ เป็นเหตุอัคคีภัย เมื่อวันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ที่ตลาดมูโนะ หมู่ที่ 1 ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบ 682 ครัวเรือน รวมจำนวนผู้ได้รับผลกระทบ 2,513 ราย แบ่งเป็นชาย 1,200 ราย หญิง 1,313 ราย เสียชีวิต 11 ราย กลับบ้านแล้ว 389 ราย ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บคงเหลือที่โรงพยาบาล บ้านเรือนเสียหาย 649 หลัง โรงเรียนเสียหาย 4 แห่ง มีภาวะเสี่ยงที่ต้องได้รับการเยียวยาทางจิตใจ 188 ราย โดยจังหวัดนราธิวาส ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนดำเนินการให้ความช่วยเหลือได้บางส่วนแล้ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2566 สรุปว่า ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นตัวเงินและในรูปแบบอื่น เช่น ด้านที่อยู่อาศัย ด้านการจัดการศึกษา การฝึกอาชีพ โดยเฉพาะได้รับความช่วยเหลือเป็นตัวเงินในกรณีเสียชีวิตและกรณีบาดเจ็บ ได้แก่ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ สำนักงานยุติธรรมจังหวัด เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง สำนักนายกรัฐมนตรี ค่าจัดการศพ เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ทายาทผู้เสียชีวิตที่มีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดนราธิวาส และมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งร่วมกับมูลนิธิสังคมสงเคราะห์ผู้ประสบภัย 14 จังหวัดภาคใต้
                         ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ อาทิ การเร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้เสียหายต่อการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะการฟ้องคดีต่อผู้กระทำความผิด การเข้าถึงระบบการเยียวยาความเสียหายตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่พึงได้รับ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกรณีการรับเงินช่วยเหลือในเบื้องต้นเป็นกรณีที่ส่วนราชการจ่ายให้เป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็น จึงมีจำนวนเงินที่ไม่มากและไม่พอเพียงต่อการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนกระบวนการตามกฎหมายที่กำหนดระยะเวลาและขั้นตอน จึงทำให้ชาวบ้านผู้ประสบภัยพิบัติรู้สึกว่าได้รับความช่วยเหลือล่าช้า และข้อเสนอที่ต้องการให้ผู้ประสบภัยพิบัติกรณี ตลาดมูโนะได้รับการเยียวยาในอัตราที่เท่ากับผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เลื่อนขึ้นด้านบน