กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 28/2567 กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต กระทบสิทธิชุมชน และวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข - สรุปผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4 จำนวน 12 รายงาน เผยมีการแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิฯ ตามข้อเสนอแนะแล้ว

16/08/2567 361

                วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ละนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 28/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. ชี้ โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทบสิทธิและวิถีชีวิตของชาวเลราไวย์ แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไข

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ระบุว่า โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต (ผู้ถูกร้องที่ 1) จะกระทบต่อวิถีชีวิตชาวเลราไวย์ เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ติดกับหาดราไวย์ ซึ่งเป็นพื้นที่จอดเรือ พักเก็บ และซ่อมแซมเครื่องมือประมง ทั้งชาวเลราไวย์กับเจ้าของที่ดินได้มีข้อพิพาทเรื่องที่ตั้งบาลัยและทางเดินไปบาลัยซึ่งเป็นศาลสำหรับประกอบพิธีกรรมที่ยังอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณจังหวัดภูเก็ต (ผู้ถูกร้องที่ 2) ยังขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง จึงขอให้ตรวจสอบ 

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ รัฐมีหน้าที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู บริหารจัดการโดยให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์ด้วย ในกรณีรัฐจะอนุญาตให้มีการดำเนินการใดที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและประชาชน ต้องดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน (Environmental Impact Assessment: EIA) และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบัญญัติแนวนโยบายแห่งรัฐให้คุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)

            จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้

            ประเด็นแรก โครงการก่อสร้างโรงแรมของบริษัทเอกชนใน จ.ภูเก็ต (ผู้ถูกร้องที่ 1) กระทบต่อที่ตั้งบาลัย ทางเดินไปบาลัย และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่หาดราไวย์ เห็นว่า ชุมชนราไวย์ มีประชากรประมาณ 254 ครัวเรือน นับถือผีบรรพบุรุษ มีการตั้งบาลัยเพื่อใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อ และประกอบอาชีพประมงแบบดั้งเดิม โดยปรากฏหลักฐานว่าชาวเลราไวย์ตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณนี้มายาวนาน เช่น เอกสารทะเบียนบ้านระบุข้อมูลการเกิดของหญิงชาวเลราไวย์ในปี 2445 ข้อมูลการเข้าเรียนของนักเรียนชาวเลราไวย์ที่โรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ปี 2482 ภาพถ่ายทางอากาศ ภาพและวิดีทัศน์ที่ปรากฏว่าชาวเลราไวย์ได้เข้าร่วมรับเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี 2502 รวมทั้งการขุดพบโครงกระดูกบรรพบุรุษที่มีความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมกับชาวเลราไวย์ในปัจจุบัน 

            สำหรับโครงการโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 มีเนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตก่อสร้างอาคารจากเทศบาลตำบลราไวย์ แต่ได้จัดทำรายงาน EIA และผู้ถูกร้องที่ 2 มีมติเห็นชอบรายงานแล้วเมื่อปี 2563 พื้นที่โครงการมีด้านหน้าติดกับหาดราไวย์ ซึ่งชาวเลใช้ประกอบอาชีพประมง จึงมีข้อพิพาทในประเด็นต่าง ๆ มาเป็นระยะ ได้แก่ เรื่องที่ตั้งและทางเดินไปบาลัย แนวเขตพื้นที่หน้าหาดราไวย์ซึ่งชาวเลราไวย์ใช้ประโยชน์ ที่ผ่านมาข้อพิพาทดังกล่าวเคยเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วหลายหน่วยงาน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 

            เมื่อปี 2560 ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำพิพากษาว่า บริเวณที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโครงการโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ไม่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงห้ามมิให้ชาวเลราไวย์ขัดขวางการดำเนินการใด ๆ และห้ามยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท อันมีผลให้ข้อพิพาทระหว่างชาวเลราไวย์กับผู้ถูกร้องที่ 1 ซึ่งเป็นเอกชนกับเอกชนยุติลงโดยผลจากคำพิพากษาของศาล ตามมาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งบัญญัติให้ กสม. สั่งยุติเรื่อง หากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว

            อย่างไรก็ดี แม้โครงการก่อสร้างโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 จะยังไม่เริ่มก่อสร้าง จึงไม่ปรากฏผลกระทบอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่การดำเนินโครงการต่อไปโดยที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้ทำหน้าที่ในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลด้วยการหาข้อยุติที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทย่อมสุ่มเสี่ยงจะกระทบต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ดั้งเดิม วัฒนธรรมประเพณี และการประกอบอาชีพของชาวเลราไวย์ ตลอดจนอาจกระทบต่อสิทธิของชาวเลราไวย์ในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่หน้าหาด ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) ให้การรับรองไว้

            ประเด็นที่สอง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำรายงาน EIA ของโครงการก่อสร้างโรงแรมดังกล่าว เห็นว่า เป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EIA ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทที่ปรึกษาได้จัดทำรายงาน EIA และจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยใช้การสัมภาษณ์รายบุคคลด้วยแบบสอบถาม และรายงาน EIA ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นและรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณจังหวัดภูเก็ต ผู้ถูกร้องที่ 2 แล้ว 

            อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาแบบสอบถามข้างต้นไม่ปรากฏประเด็นเรื่องที่ตั้งบาลัย ทางเดินไปยังบาลัย การใช้พื้นที่ชายหาดราไวย์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและเป็นผลกระทบหลักที่จะเกิดขึ้นกับผู้ร้องซึ่งเป็นชาวเลราไวย์หากก่อสร้างโครงการ นอกจากนี้ การเลือกใช้วิธีการสัมภาษณ์รายบุคคลอาจเป็นวิธีที่ไม่เหมาะสมกับการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากชาวเลราไวย์บางส่วนไม่สามารถเข้าใจการสื่อสารด้วยภาษาไทย และอาจทำให้ชาวเลราไวย์ไม่ให้ข้อมูล เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วชาวเลราไวย์มักอยู่แบบรวมกลุ่ม จึงเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของโครงการของผู้ถูกร้องที่ 1 และการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EIA ของผู้ถูกร้องที่ 2 มีความบกพร่องไม่ครบถ้วนในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ อันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ร้องและชาวเลราไวย์ 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องที่ 1 และจังหวัดภูเก็ต ให้ร่วมกันจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพิ่มเติมในประเด็นที่เป็นข้อพิพาทให้ครบถ้วน โดยพิจารณาเลือกใช้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของชาวเลราไวย์ที่มีธรรมชาติในการอยู่แบบรวมกลุ่ม และให้ผู้ถูกร้องที่ 2 นำข้อมูลไปประกอบการพิจารณาทบทวนมติเห็นชอบรายงาน EIA ต่อไป

            นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังผู้ถูกร้องที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 

            (1) ให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ดำเนินการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (HRDD) ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) เพื่อประเมินผลกระทบหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นหรืออาจเกิดขึ้น และหาแนวทางป้องกัน บรรเทา และจัดการผลกระทบ

            (2) ให้เทศบาลตำบลราไวย์ นำข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับที่ตั้งบาลัย ทางเดินไปบาลัย และการใช้ประโยชน์พื้นที่หาดราไวย์ของชาวเล ตามรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ ไปประกอบการพิจารณาอนุญาตก่อสร้างอาคารโครงการก่อสร้างโรงแรมของผู้ถูกร้องที่ 1 ด้วย 

            (3) ให้จังหวัดภูเก็ตเร่งหาข้อสรุปในกรณีพิพาทเรื่องที่ตั้งและทางเดินไปยังบาลัย แนวเขตของพื้นที่หาดราไวย์ที่ชาวเลสามารถใช้ประโยชน์ได้ เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ดั้งเดิม วัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชาวเลราไวย์

            (4) ให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ประกาศให้พื้นที่บริเวณหาดราไวย์ซึ่งชาวเลราไวย์ใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน เป็นพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 เรื่อง การฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ต่อไป

            2. กสม. สรุปผลการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4 จำนวน 12 รายงาน เผยมีการแก้ไขเยียวยาการละเมิดสิทธิฯ ตามข้อเสนอแนะแล้ว 

            นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. มาอย่างต่อเนื่อง โดย กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ มาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 12 รายงาน เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นสาระสำคัญแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยการติดตามผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สำหรับตัวอย่างรายงานผลการตรวจสอบที่ กสม. มีมติให้ยุติการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้

            (1) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีการตรวจสอบกลุ่มกิจกรรมในมหาวิทยาลัยรามคำแหงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมให้กับนักศึกษาใหม่ในลักษณะที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กลุ่มกิจกรรมดังกล่าวได้เน้นย้ำและกำชับไปยังสมาชิกแล้วว่า การจัดกิจกรรมทุกประเภทต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคน และไม่ได้ดำเนินกิจกรรมใด ๆ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2565 เนื่องจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มีคำสั่งลงโทษให้งดการจัดกิจกรรม และตั้งคณะกรรมการสอบวินัย โดยมีการลงโทษทางวินัยนักศึกษาที่จัดกิจกรรมแล้ว 

            (2) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิในกระบวนการยุติธรรมทางปกครอง คือ กรณีร้องเรียนว่าการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ล่าช้าเป็นระยะเวลาหลายปี โดยปัจจุบัน ก.พ.ค. ได้วินิจฉัยอุทธรณ์เรื่องตามคำร้องเสร็จสิ้นแล้ว และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) อยู่ระหว่างการดำเนินการสนับสนุนอัตรากำลังตำแหน่งนิติกรให้แก่ ก.พ.ค. เป็นกรณีพิเศษโดยเร่งด่วน และการปรับปรุงแก้ไขกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. .... เพื่อลดขั้นตอนบางขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เพื่อให้การพิจารณาเรื่องอุทธรณ์และร้องทุกข์เป็นไปอย่างยุติธรรมและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

            (3) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เช่น กรณีการตรวจสอบสื่อโทรทัศน์แห่งหนึ่งซึ่งบันทึกภาพของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกระบวนการเกณฑ์ทหารและนำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งนำเสนอข่าวในลักษณะเสียดสีบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ บริษัทสื่อโทรทัศน์แห่งดังกล่าวได้เยียวยาจิตใจของผู้ร้องที่ได้รับผลกระทบโดยได้ประสานงานกับเว็บไซต์และผู้เกี่ยวข้องเพื่อลบโพสต์คลิปวิดีโอรายการข่าวดังกล่าวออกจากระบบอินเทอร์เน็ตแล้ว รวมทั้งได้กำหนดนโยบายแนวทางการปฏิบัติงานให้ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการนำเสนอที่อาจสื่อความหมายไปในทางด้อยค่าหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ขณะที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติการนำเสนอของสื่อมวลชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ” และดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว

            (4) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิแรงงาน เช่น กรณีรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ตามที่ปรากฏในรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2564 ขององค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุให้สินค้าจากอุตสาหกรรมประมงไทยอยู่ใน “รายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ” นั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาของกระทรวงแรงงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. ในประเด็นต่าง ๆ แล้ว ดังนี้ กรณีให้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอย่างเคร่งครัด หน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายได้จัดทำคู่มือปฏิบัติงานพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยได้นำ “ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับ” ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้เป็นพื้นฐานในการประเมิน รวมถึงมีการดำเนินงานร่วมกับองค์กรภาคี ส่งผลให้มีสถิติการจับกุมดำเนินคดีอาญาในคดีค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้น กรณีให้สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีแผนงานกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเอกชนมิให้กระทำความผิด รวมถึงให้องค์กรเครือข่ายมีบทบาทเฝ้าระวัง แจ้งเหตุในช่องทางกลไกการร้องเรียนของทุกหน่วยงาน ส่วนกรณีให้เปิดโอกาสและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมร่วมมีบทบาทในการตรวจสอบปัญหา คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ได้มีคำสั่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อน ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานเพิ่มเติม โดยได้เพิ่มผู้แทนมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ 

            และ (5) รายงานผลการตรวจสอบประเภทสิทธิเด็ก คือ รายงานผลการตรวจสอบกรณีร้องเรียนว่า ครูหัวหน้าฝ่ายปกครองของโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองลงโทษนักเรียนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมและทำให้อับอายต่อหน้าสาธารณะ ซึ่งโรงเรียนได้กำชับครูฝ่ายปกครองให้ตระหนักถึงการลงโทษนักเรียนซึ่งจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัด และเคารพสิทธิมนุษยชนของนักเรียน เน้นการจัดกิจกรรมให้ความรู้นักเรียนเรื่องสิทธิมนุษยชน และจัดอบรมครูที่เข้าทำงานใหม่ทุกปีการศึกษาเพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบจากการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนได้ซักซ้อมความเข้าใจไปยังผู้รับใบอนุญาตโรงเรียนเอกชนในระบบในกรุงเทพมหานคร ให้กำชับผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาให้ถือปฏิบัติตามระเบียบกระทรวง ศึกษาธิการ ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัด หากมีการลงโทษนอกเหนือไปจากโทษที่กำหนดไว้ จะถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจเป็นความผิดตามข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วยจรรยาบรรณของวิชาชีพ พ.ศ. 2556 ด้วย 

            “การติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะ เป็นบทบาทสำคัญของ กสม. ในการผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย แม้ในภาพรวมหน่วยงานต่าง ๆ จะให้ความสำคัญและดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. แล้ว แต่บางกรณียังคงพบการดำเนินการที่ล่าช้า มีข้อจำกัดด้านบุคลากรหรืองบประมาณ ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือและให้การสนับสนุนกันและกันอย่างเป็นระบบต่อไป” นายชนินทร์กล่าว

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

16 สิงหาคม 2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน