สำนักงาน กสม. จัดประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ กรณี “การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม” เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

29/08/2567 259

          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2567 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษในพื้นที่ภาคใต้ กรณี “การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม” โดยมีนายพิทยา จินาวัฒน์ ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ณ โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

          จากการประชุมดังกล่าวทำให้รับทราบข้อเท็จจริงและสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคง ส่งผลให้การปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่รัฐมีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น การควบคุมตัว การนำตัวไปซักถาม วัตถุประสงค์และความจำเป็นในการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม ความยินยอมในการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม ความโปร่งใสและมาตรฐานของการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม รวมถึงความซ้ำซ้อนของการตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากหน่วยงานของรัฐในพื้นที่ เป็นต้น

          ทั้งนี้ ภายหลังจากการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบในพื้นที่ในกรณีดังกล่าว ผู้แทนเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ ได้สะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นอื่น ๆ พร้อมทั้งได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ 

          สำหรับการรับฟังความคิดเห็นต่อ “การตรวจเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม” นั้น ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. มีการจัดรับฟังความเห็น แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะในกรณีดังกล่าว จากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสถาบันการศึกษา ครอบคลุมพื้นที่ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องร่วมกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้ได้ข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน และประมวลผล เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะ ภายใต้โครงการพัฒนาข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ตามหน้าที่และอำนาจของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 247 (3) ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน