สำนักงาน กสม. จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการพัฒนางานอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

11/09/2567 257

          เมื่อวันที่ 4 - 6 กันยายน 2567 ที่โรงแรมสยามออเรียนทัล หาดใหญ่ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เรื่องสิทธิมนุษยชนเพื่อการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการพัฒนางานอำนวยความยุติธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากคดีอาญาและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตระหนักในสิทธิมนุษยชน มีความรู้ ความเข้าใจบทบาท หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และบทบาทหน้าที่ในการช่วยเหลือเยียวยาของหน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา การจัดทำระบบการเยียวยาที่เป็นมาตรฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน และร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและการป้องกันการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ จำนวน 135 คน

          สำหรับพิธีเปิดโครงการในวันพุธที่ 4 กันยายน 2567 นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวเปิดและปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ผ่านเทปบันทึกภาพ โดยมีนางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน ในการนี้ผศ. สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวสรุปปิดโครงการในวันที่ 6 กันยายน 2567

          การสัมมนาเชิงปฏิบัติการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้

          1. กิจกรรมการเรียนรู้ เกี่ยวกับความรู้พื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบทบาท หน้าที่ และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการให้ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน

 

          2. การสานเสวนา การอำนวยความเป็นธรรมและการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยผู้ช่วยเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ยุติธรรมจังหวัดสงขลา เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ประธานสมาคมเพื่อสันติภาพและการพัฒนาร่วมให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมสัมมนา นอกจากนี้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการเข้าถึงการเยียวยาของภาครัฐ และปัญหา อุปสรรค ความท้าทายในการแก้ไขปัญหาการอำนวยความยุติธรรมและการเยียวยาผู้เสียหายจากคดีอาญา จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยมีพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จังหวัดสงขลา ผู้อำนวยการศูนย์ขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัดหวัดชายแดนภาคใต้ และหัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา ร่วมให้ข้อมูลแลกเปลี่ยนกับผู้เข้าร่วมสัมมนา

          3. การแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็น ต่อปัญหาการเยียวยา เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบการเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อคิดเห็น นำเสนอปัญหาจากการเยียวยาของเจ้าหน้าที่รัฐ และมีข้อเสนอแนะ แนวทางการพัฒนาระบบการเยียวยาตามหลักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สรุปได้ 7 ข้อ ดังนี้ 1) การสู้กับเวลา - ความล่าช้าและการมีเวลาจำกัดส่งผลต่อการเสียสิทธิ 2) การสื่อสารสิทธิ – การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงและครอบคลุม 3) บุตรของแผ่นดิน – การเยียวยาคุ้มครองสิทธิของเด็กที่ได้รับผลกระทบ 4) กองทุนยุติธรรม – สิทธิในการเข้าถึงกองทุนที่เปิดกว้างเพียงพอ 5) บทบาทชุมชน -การบริหารงานเยียวยาระดับพื้นที่โดยชุมชนเป็นศูนย์กลาง 6) จัดระบบงาน – การบูรณาการงานเยียวยาบนพื้นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ และ7) เป้าหมายปลายทาง – ความสามารถในการฟื้นตัวจนสามารถพึ่งพาตนเองได้

          ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าว เป็นการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของคณะทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงาน กสม. และ ศอ.บต. โดยมีหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริม สนับสนุน หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชนในการดำเนินการเพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมการเคารพสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะได้สรุปผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงข้อเสนอแนะมาตรการ แนวทางการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ และคำสั่งใด ๆ เสนอต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน