แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง ข้อเสนอแนะในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณีภัยพิบัติน้ำท่วม

27/09/2567 265

               ตามที่เกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและลุกลามไปหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้ประชาชนหลายแสนครัวเรือนได้รับความเดือดร้อน และก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้างต่อบ้านเรือน สถานที่ราชการ สถานศึกษา และกิจการห้างร้านต่าง ๆ

               คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามสถานการณ์และลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อมูลกรณีเหตุอุทกภัยดังกล่าวด้วยความห่วงกังวล และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อผู้ประสบภัยที่ได้รับอันตรายจนถึงแก่ชีวิต รวมทั้งประชาชนจำนวนมากที่ต้องสูญเสียทรัพย์สิน ที่ทำกิน และเผชิญกับความยากลำบากนานัปการในการใช้ชีวิต นอกจากนี้ ขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ ตลอดจนประชาชนผู้มีจิตอาสาทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อกันอย่างเต็มศักยภาพและไม่รอช้า

                    กสม. ตระหนักว่า อุทกภัยดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนในหลายมิติ เช่น สิทธิในชีวิตและร่างกาย สิทธิในทรัพย์สิน สิทธิในการเข้าถึงและได้รับข้อมูลข่าวสารจากรัฐในการแจ้งเตือนเหตุภัยพิบัติ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการน้ำ สิทธิในการได้รับมาตรฐานการครองชีพอย่างเพียงพอ ได้รับปัจจัยสี่ รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายจากรัฐอย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติภาวะโลกเดือดในปัจจุบัน ถือเป็นวิกฤติทางสิ่งแวดล้อมที่เร่งให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ อันคุกคามและส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิความเป็นอยู่ที่ดีของคนทั่วโลกรวมทั้งคนไทย และยิ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ยากไร้ ผู้สูงอายุ เด็ก กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานอพยพข้ามชาติ ฯลฯ ที่มีอุปสรรคในการเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

                    ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาโดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงในระดับพื้นที่ ซึ่งรวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชน ในการช่วยเหลือ ฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหายโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สายซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโคลนที่มากับน้ำ นอกจากนี้เห็นควรใช้กลไกการบริหารจัดการแม่น้ำโขงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาซึ่งเป็นปัญหาข้ามพรมแดน และจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนการรับมือและป้องกันภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพ มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายที่รุนแรงดังเช่นที่ผ่านมา

 

               ทั้งนี้ กสม. ขอให้รัฐบาลตระหนักด้วยว่ารัฐมีพันธกรณีหลักภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนในการบรรเทาปัญหา เสริมศักยภาพหรือกำหนดมาตรการใด ๆ ที่ทำให้ภาครัฐและประชาชนสามารถปรับตัวในการรับมือและป้องกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เพื่อมิให้ภัยพิบัติกระทบสิทธิมนุษยชนของผู้ประสบภัย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

27 กันยายน 2567

เลื่อนขึ้นด้านบน