กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 43/2567 กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง - ผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย แนะ ศอ.บต. แก้ไข - แนะ ครม. กำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างทั่วถึงโดยไม่เลือกปฏิบัติหลังพบว่าพนักงานบริการไม่ได้รับเงินเยียวยาในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19

27/12/2567 19

                วันศุกร์ที่ 27 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 43/2567 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้ 

1. กสม. แนะกระทรวงพลังงานเร่งเสนอ ครม. แก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

 

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ระบุว่า เดิมผู้ร้องอาศัยอยู่ที่บ้านหางฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) (ผู้ถูกร้องที่ 1) มีโครงการขยายเหมืองแม่เมาะ และโครงการอ่างเก็บน้ำแม่จาง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ไปยังบริเวณใกล้บ้านหางฮุง ประชาชน จึงเรียกร้องให้มีการอพยพ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้อพยพประชาชนบ้านหางฮุงที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานดังกล่าวออกจากพื้นที่เดิม ไปอยู่ที่บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โดยได้รับจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยครอบครัวละ 2 งาน แต่ กฟผ. และสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กฟผ. ในขณะนั้น ไม่ดำเนินการให้ตนและประชาชนที่อพยพมาอาศัยอยู่ที่บ้านเวียงหงส์ล้านนาได้รับเอกสารสิทธิในที่ดิน ทำให้เสียโอกาสในการถือครองที่ดิน ไม่สามารถพัฒนาด้านเศรษฐกิจ หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างอื่นได้เนื่องจากอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จึงขอให้ตรวจสอบ

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า โครงการขยายเหมืองแม่เมาะฯ ของ กฟผ. เป็นผลให้มีการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง หลายครั้ง โดยครั้งที่ 1 - 4 เกิดขึ้นระหว่างปี 2521 - 2536 ซึ่ง กฟผ. ได้อพยพประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการไปอาศัยในพื้นที่จัดสรร ณ บ้านท่าปะตุ่น - นาแขม ตำบลแม่เมาะ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง ต่อมาปี 2536 ประชาชนกลุ่มดังกล่าวได้เรียกร้องเอกสารสิทธิในที่ดิน เนื่องจากส่วนใหญ่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมก่อนการอพยพ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ให้ออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่อยู่อาศัย และออก ส.ป.ก. 4-01 ในส่วนที่ดินทำกิน ในพื้นที่อพยพให้แก่ประชาชนกลุ่มดังกล่าว

                ต่อมา มีการอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการขยายเหมืองแม่เมาะฯ ครั้งที่ 5 ซึ่งเป็นกรณีตามคำร้องนี้ เกิดขึ้นระหว่างปี 2545 – 2552 โดยประชาชนบ้านหางฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เมาะ 341 ครัวเรือน ได้รับจัดสรรที่ดินที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะ บ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2544 โดยให้เป็นที่อยู่อาศัยครัวเรือนละ 200 ตารางวา แต่ไม่ได้รับเอกสารสิทธิในที่ดิน และถูกห้ามไม่ให้เข้าไปปลูกสร้างบ้านพักอาศัยและสิ่งปลูกสร้างถาวรในที่ดินเดิมที่บ้านหางฮุง ตามประกาศคณะทำงานจ่ายเงินช่วยเหลือค่ารื้อถอนเพื่ออพยพราษฎรบ้านหางฮุง หมู่ที่ 3 ตำบลแม่เมาะ ลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 ทั้งนี้ ประชาชนที่อพยพไปยังบ้านเวียงหงส์ล้านนาส่วนใหญ่มีเอกสารสิทธิในที่ดินเดิมก่อนการอพยพ

            โดยปรากฏว่าการที่ประชาชนกลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับเอกสารสิทธิในที่ดินแปลงอพยพ บ้านเวียงหงส์ล้านนา เนื่องจาก กฟผ. และสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกร้องทั้งสองอ้างว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 ที่เห็นชอบให้อพยพประชาชนบ้านหางฮุงครั้งที่ 5 ตามคำร้องนี้ มิได้มีมติให้ออกเอกสารสิทธิให้กับผู้ถูกอพยพ จึงไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการออกเอกสารสิทธิได้ และการอพยพเป็นไปตามความสมัครใจ อีกทั้งในเวลานั้น กฟผ. ไม่ต้องการใช้พื้นที่ในการขยายโครงการแล้ว แต่ประชาชนยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินบ้านหางฮุงและต้นไม้ที่มีอยู่เดิม อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นพบว่า การอพยพครั้งที่ 5 เกิดจากการที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการที่ กฟผ. อพยพประชาชนบ้านหางฮุงประมาณครึ่งหนึ่งออกจากพื้นที่ไปก่อนหน้านั้น ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบด้านการตั้งถิ่นฐานอยู่ร่วมกันของชุมชนซึ่งต้องห่างไกลกันจากญาติพี่น้อง มีการเปลี่ยนแปลงด้านประเพณีวัฒนธรรมและการพัฒนาหมู่บ้าน รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

            ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องทั้งสองมิได้ดำเนินการให้มีการออกเอกสารสิทธิให้แก่ประชาชนในพื้นที่บ้านเวียงหงส์ล้านนาเช่นเดียวกับการอพยพครั้งอื่น จึงสะท้อนให้เห็นว่า การปฏิบัติของภาครัฐเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ร้องและประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนาให้แตกต่างไปจากผู้อพยพครั้งอื่น ซึ่งเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน กฟผ. (ผู้ถูกร้องที่ 1) อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ประกอบกับจังหวัดลำปางได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่รองรับการอพยพบ้านเวียงหงส์ล้านนา โดยเห็นควรให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะบางส่วน เพื่อนำมาออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา และเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 จังหวัดลำปางได้มีหนังสือแจ้งมติของคณะกรรมการชุดดังกล่าว ไปยังสำนักงานพลังงานจังหวัดลำปางเพื่อประมวลเรื่องเสนอกระทรวงพลังงาน และนำเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบต่อไป 

            อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวยังไม่แล้วเสร็จ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดเสนอเรื่องการแก้ไขปัญหาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง กรณีเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะบางส่วน ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับการอพยพ เพื่อนำมาออกเอกสารสิทธิให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบโดยเร็ว 

            ให้ ครม. พิจารณาเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่เมาะบางส่วน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการออกเอกสารสิทธิเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนบ้านเวียงหงส์ล้านนา หมู่ที่ 12 ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

            และให้ กฟผ. นำข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ ไปประกอบการพิจารณาหากต้องเวนคืนที่ดินสำหรับใช้ในกิจการพลังงาน และอพยพประชาชนออกจากที่ดิน โดยจะต้องคำนึงถึงวิถีชีวิต สังคม วัฒนธรรม ของการดำรงอยู่ร่วมกันของประชาชนในชุมชน ด้วย

 

2.กสม. เผยผลการตรวจสอบโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา ระบุขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย แนะ ศอ.บต. แก้ไข 

 

            นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มีมติให้หยิบยกเรื่อง การดำเนินโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” และการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่ตั้งโครงการ ขึ้นตรวจสอบเนื่องจากอาจขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และการดำเนินโครงการอาจส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และชุมชน ประกอบกับผู้ร้องคือเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ร้องเรียนว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้ดำเนินการตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 3 ประเด็น ดังนี้ 

            ประเด็นที่หนึ่ง สิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาโครงการ เห็นว่า โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาฯ เป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในสมัยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่าง มุ่งเน้นการลงทุนของภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยมีแผนงานประกอบด้วย ท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การสร้างรางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือสงขลาแห่งที่ 2 การพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทางเลือก และนิคมอุตสาหกรรม หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักการของโครงการ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 แม้ผู้ถูกร้อง คือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะผู้เสนอโครงการจะได้จัดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 แล้ว แต่เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก เช่น การใช้ที่ดินจำนวนมากเพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม ระบบขนส่งและคมนาคม การใช้พื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อก่อสร้างท่าเทียบเรือ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ รัฐจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาโครงการ โดยดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างอิสระ แข็งขัน และมิใช่เพียงดำเนินการในเชิงกระบวนการเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงการมีส่วนร่วมในเชิงเนื้อหาโดยมีส่วนร่วมตัดสินใจกับรัฐในการจัดการทรัพยากรและการกำหนดทิศทางการพัฒนาในท้องถิ่นของตน

            ข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบสรุปได้ว่า ขณะที่ ศอ.บต. ขับเคลื่อนโครงการและจัดการมีส่วนร่วมของประชาชน มีกลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ เนื่องจากพบว่า มีกระบวนการรวบรวมที่ดินเพื่อขายให้บริษัทเอกชนรายใหญ่และเร่งรัดการออกโฉนดที่ดินให้กับเอกชนเพื่อดำเนินโครงการ รวมทั้งมีการเตรียมการแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่จากที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมเป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า จึงนำไปสู่การคัดค้านร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยปรากฏว่าการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2563 มีการล้อมรั้วลวดหนามสถานที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารตั้งด่านสกัดไม่ให้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเข้าร่วมเวที ประกอบกับในการอนุมัติโครงการเกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. การที่ ศอ.บต. ในฐานะผู้ถูกร้องเป็นหน่วยงานที่มีภาพลักษณ์การทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานด้านความมั่นคง เป็นผู้ดำเนินการจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการเอง จึงอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ ในชั้นนี้จึงเห็นว่า การจัดการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับหลักการและสิทธิในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่รัฐต้องให้หลักประกันสิทธิดังกล่าวว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นอย่างเท่าเทียม ครอบคลุม มีอิสระและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และปราศจากการบังคับหรือกีดกัน

            ประเด็นที่สอง การวางและจัดทำผังเมืองรวมจะนะ เห็นว่า การที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ให้แก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในอำเภอจะนะ จากพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) เป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า อาจนำมาซึ่งการประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยและความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งเดิมเป็นพื้นที่สีเขียว แม้ในการพิจารณาของ ครม. ในครั้งนั้นจะมีการอ้างอิงถึงผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะฯ แต่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับร่วมกันของผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ ดังนั้น การวางและจัดทำผังเมืองรวมจะนะโดยแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินจากพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นประเภทอุตสาหกรรมและคลังสินค้า ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 จึงสุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน

            และประเด็นที่สาม กรณีร้องเรียนว่ามีกระบวนการรวบรวมที่ดินเพื่อขายให้แก่บริษัทเอกชนรายใหญ่เพื่อใช้ดำเนินโครงการ นั้น เห็นว่า เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงแล้ว จึงเห็นควรยุติเรื่องในประเด็นนี้ และติดตามผลการดำเนินการของ ป.ป.ช. ต่อไป ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (3) อย่างไรก็ตาม กสม. ได้ทราบว่าหลังจากที่เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อ ครม. ให้ยุติการดำเนินโครงการดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ครม. ได้มีมติมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดให้มีการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และแผนแม่บทต่าง ๆ โดยให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และให้รับข้อเสนอของภาคประชาชนไปพิจารณา เป็นผลให้กระบวนการขับเคลื่อนโครงการเมืองต้นแบบฯ ชะลอออกไป โดยปัจจุบันสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอยู่ระหว่างดำเนินการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) กรณีนี้จึงเห็นว่า เป็นเรื่องที่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว 

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

            (1) ให้ ศอ.บต. ดำเนินกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการพัฒนาหรือขับเคลื่อนโครงการที่มีลักษณะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม โดยประสานความร่วมมือกับสถาบันหรือองค์กรที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมโดยเฉพาะและเป็นที่ยอมรับไว้วางใจของประชาชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ รวมถึงร่วมตัดสินใจ 

            (2) ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา วางและจัดทำผังเมืองรวมจะนะให้สอดคล้องกับผลการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของบริบทพื้นที่และการคุ้มครองความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันในการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี

            (3) ให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินำเครื่องมือการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และการประเมินผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UNGPs) มาประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายหรือการพัฒนาโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นวงกว้าง เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของสังคมในแต่ละพื้นที่ ลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน และกระจายผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม

 

3. กสม. แนะ ครม. กำหนดหลักเกณฑ์เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยอย่างทั่วถึงโดยไม่เลือกปฏิบัติ หลังพบว่าพนักงานบริการไม่ได้รับเงินเยียวยาผู้ประกันตนในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19

 

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2567 ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบเกี่ยวกับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) กรณีร้องเรียนว่าพนักงานบริการในสถานบริการไม่ได้รับเงินเยียวยาผู้ประกันตน โดยไม่สามารถขอรับการเยียวยาได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านคุณสมบัติและลักษณะการทำงานที่ต้องมีการรับรองจากสมาคมหรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิง 

            จากการตรวจสอบกรณีดังกล่าวปรากฏว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานบันเทิงและกลุ่มพนักงานบริการในกิจการดังกล่าว จึงดำเนินมาตรการช่วยเหลือเยียวยาชดเชยผู้ได้รับผลกระทบสำหรับกลุ่มแรงงานในสถานบันเทิงเป็นการเฉพาะตามโครงการเยียวยาผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับสถานบันเทิงที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ในอัตรา 5,000 บาทต่อคน เป็นระยะเวลา 1 เดือน โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกันตนในกิจการสถานบันเทิงและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ต้องได้รับการรับรองจากสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์หรือสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทยภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ก่อน ส่งผลให้พนักงานบริการในกิจการสถานบันเทิงที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้รับการเยียวยาตามโครงการดังกล่าว อันส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติในการเข้าถึงการเยียวยาซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐทุกคนจะต้องได้รับบนพื้นฐานโอกาสที่เท่าเทียมกัน 

            ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะไปยัง ครม. ในกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยใด ๆ เช่น โรคระบาด ให้ ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการช่วยเหลือเยียวยา ให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และให้มอบหมายกระทรวงแรงงานศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาแรงงานในกิจการสถานบริการและจัดทำกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพการทำงานและการจ้างงาน เพื่อคุ้มครองแรงงานในกิจการดังกล่าวเป็นการเฉพาะในลักษณะเดียวกับกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานที่รับไปทำที่บ้าน พ.ศ.2547 และกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม พ.ศ. 2557 รวมถึงให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงานและการประกันสังคมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

            นอกจากนี้ ให้กระทรวงแรงงานกำหนดนโยบายให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและสำนักงานประกันสังคมมีมาตรการควบคุม กำกับและติดตามให้สถานบริการที่มีลักษณะการจ้างงานพนักงานบริการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างครบถ้วน เพื่อให้พนักงานได้รับสิทธิและสวัสดิการด้านแรงงาน รวมถึงการประกันสังคม

 

           

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

27 ธันวาคม 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน