กสม. เปิดสำนักงานฯ ระดับภูมิภาคแห่งแรกในพื้นที่ภาคใต้ ณ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาพร้อมเปิดเวทีเครือข่ายสิทธิมนุษยชนเพื่อขับเคลื่อนกลไกส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิฯ

20/07/2565 313

                         วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางปรีดา คงแป้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการ กสม. และนางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการ กสม. ร่วมพิธีเปิดสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) และการสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพื้นที่ภาคใต้ ณ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เลขที่ 31 อาคารสันติภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
                         นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงาน สรุปว่า กสม. ได้มีมติเมื่อวันที่11 พฤศจิกายน 2563 ให้จัดตั้งสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนราชการในภูมิภาคแห่งแรก ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กสม. จึงพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ในรูปแบบของกลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นกลไกในระดับภูมิภาคแห่งแรกที่ กสม. สามารถเข้าถึงประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อให้กสม. มีบทบาทสำคัญในการอำนวยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนที่นำไปสู่การสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ต่อไป
                         กิจกรรมในช่วงเช้ามีการเสวนาหัวข้อ “สิทธิมนุษยชน การพัฒนา สู่สันติภาพที่ยั่งยืนในชายแดนใต้” โดยผู้แทนหน่วยงานรัฐ หน่วยงานความมั่นคง หอการค้าจังหวักสงขลา และองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ และการแถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ของ กสม. ครั้งที่ 26/2565 โดยนายวสันต์ ภัยหลักลี้ และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในประเด็นผลการดำเนินงานของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ที่สำคัญทั้งด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ตลอดจนสถิติเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ภาคใต้ สรุปว่า นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ถึงปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2565) กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 464 คำร้อง โดยเรื่องร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพ (2) สิทธิและสถานะบุคคล เช่น กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือจัดทำล่าช้าและ (3) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง กระทำการตรวจค้น ควบคุมตัว และปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
                         จากนั้น ในช่วงบ่ายมีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ “การขับเคลื่อนสิทธิมนุษยชนในภาคใต้” โดยกลุ่มผู้แทนภาคประชาสังคมและภาควิชาการซึ่งขับเคลื่อนงานสิทธิมนุษยชนประเด็นต่าง ๆ ในพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล/มานิ กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะ กลุ่มผู้หญิงชายแดนใต้ กลุ่มที่ดินและทรัพยากร กลุ่มประมงพื้นบ้าน และกลุ่มสิทธิชุมชนและโครงการพัฒนา เป็นต้น โดยเวทีดังกล่าวได้มีการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหา แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างกลไกความร่วมมือเชิงพื้นที่ระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมกับสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการแนะนำสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ นิทรรศการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนการจัดแสดงผลงานภาพถ่ายสิทธิมนุษยชนของนักศึกษาและประชาชนที่ได้รับรางวัลจากการประกวดในโครงการเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิทธิมนุษยชนด้วย
                         อนึ่ง การสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนพื้นที่ภาคใต้ ณ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาสัมพันธภาพเครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาสัมพันธ์ หน่วยงานและภารกิจของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไปด้วย ทั้งนี้ในการสัมมนาดังกล่าวมีผู้แทนหน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

เลื่อนขึ้นด้านบน