กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 26/2565 กสม. เปิดสำนักงานพื้นที่ภาคใต้ พัฒนากลไกสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ร่วมกับเครือข่ายเผยสิทธิในกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนมากที่สุด - ตรวจเยี่ยม 6 สถานที่ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยในจังหวัดชายแดนใต้ หารือกอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน

20/07/2565 296

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 11.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 26/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
 
1. กสม. พัฒนากลไกสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ในระดับภูมิภาคที่ภาคใต้เป็นแห่งแรก เผยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในกระบวนการยุติธรรมถูกร้องเรียนมากที่สุด
 
ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2563 ให้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้) เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคแห่งแรก ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ภูเก็ต ระนอง สุราษฎร์ธานี ตรัง นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สงขลา และสตูล โดยมีประกาศให้เปิดทำการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ มาตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2565 ณ เลขที่ 31 อาคารสันติภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ถนนปุณณกัณฑ์ ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และในวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นี้ ได้มีการจัดสัมมนาเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เนื่องในโอกาสเปิดสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหา บูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน และนำไปสู่การพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่
 
ที่ผ่านมาสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครอง ส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่สำคัญ เช่น การตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐและเอกชน การรับฟังข้อเท็จจริงเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงสิทธิตามกฎหมายของกลุ่มชาติพันธ์มานิจังหวัดสตูล การให้คำปรึกษาทางกฎหมายแก่บุคคลต่างด้าวเรื่องการขอสัญชาติไทย การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างเครือข่ายการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มสตรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ตลอดจนการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานด้านสาธารณสุขในการเตรียมจัดทำหลักสูตรอบรมบุคลากรทางการแพทย์ผู้ทำหน้าที่ตรวจประเมินสุขภาพของผู้ถูกควบคุมตัวประกอบการตรวจสอบเหตุซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
สำหรับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ถึงปัจจุบัน (30 มิถุนายน 2565) กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งสิ้น 464 คำร้อง โดยเรื่องร้องเรียน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทหารซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายเพื่อบังคับให้รับสารภาพ (2) สิทธิและสถานะบุคคล เช่น กรณีกล่าวอ้างว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไม่ดำเนินการจัดทำทะเบียนประวัติบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนหรือจัดทำล่าช้าและ (3) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง กระทำการตรวจค้น ควบคุมตัว และปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบครึ่งปีแรกของปี 2565 พบว่า มีสถิติข้อมูลจากองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่รายงานว่า ระหว่างเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2565 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 200 ครั้ง ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยบางส่วนเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นอกจากนี้ในปี 2565 มีรายงานเหตุการณ์ปะทะกันและนำมาซึ่งการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยหรือบุคคลตามหมายจับในคดีความมั่นคงหลายกรณี ซึ่งองค์กรภาคประชาสังคมได้มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานความมั่นคงในประเด็นการวิสามัญฆาตกรรม เช่น การให้องค์กรอิสระ ตัวแทนญาติ และผู้นำศาสนา สามารถเข้าจุดตรวจสอบหลักฐานการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุในรัศมีที่กำหนดได้ การติดตั้งกล้องระหว่างการปฏิบัติงานไว้บนหมวกหรือเสื้อที่ตัวเจ้าหน้าที่ และการอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เป็นต้น ซึ่งไม่นานมานี้ กสม. โดยสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้มีการหารือร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้าถึงแนวทางการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่ถูกควบคุมตัว และแนวทางในการเข้าถึงภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการตรวจสอบด้วย
 
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตอบรับข้อเสนอแนะของ กสม. ในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยกระทรวงกลาโหมรายงานว่าได้อบรมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนแก่เจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง ในส่วนของข้อเสนอแนะที่ให้กระทรวงกลาโหมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขตรวจประเมินสุขภาพจิตใจของผู้ที่ถูกควบคุมตัวเข้าสู่กระบวนการซักถามทั้งก่อนและหลัง และเปิดโอกาสให้สามารถร้องขอการตรวจร่างกายและประเมินสภาพจิตใจจากแพทย์ที่ไม่ได้สังกัดหน่วยงานความมั่นคงควบคู่ไปกับการตรวจของแพทย์ในสังกัดหน่วยงานความมั่นคงนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว
 
“พื้นที่ภาคใต้เป็นภูมิภาคที่มีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมาก ด้วยความซับซ้อนของสถานการณ์ปัญหาบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการมุ่งพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งพลังงานและอุตสาหกรรม กสม. จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากลไกการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเชิงพื้นที่ ซึ่งสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้นี้ เป็นกลไกในระดับภูมิภาคแห่งแรกที่ กสม. จัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนจังหวัดภาคใต้ได้รับความสะดวกและสามารถเข้าถึงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
 
2. กสม. ตรวจเยี่ยม 6 สถานที่ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยในจังหวัดชายแดนใต้ - ถก กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า หวังเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก (โดยมีแนวโน้มการร้องเรียนลดลง) เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีการละเมิดหรือสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลผู้ถูกควบคุมตัวในสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งเป็นประเด็นที่ กสม. มีความห่วงกังวลและได้ประสานแนวทางตรวจสอบและแก้ไขปัญหาร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง นั้น
 
ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 - 16 มิถุนายน 2565 กสม. โดยนายสุชาติ เศรษฐมาลินี และนางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยที่ปรึกษา กสม. และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสม.ส่วนกลาง และสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้เข้าตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 จำนวนทั้งสิ้น 6 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส โดยมีพลเรือตรี วรพล สิทธิจิตต์ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นผู้แทน กอ.รมน. ภาค 4 ให้ข้อมูลสรุปวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี
 
จากการหารือร่วมกัน ทางผู้แทน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ยินดีให้ความร่วมมือกับ กสม. เพื่อให้การตรวจสอบคำร้องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเกี่ยวเนื่องกับคดีความมั่นคงมีความรวดเร็วมากขึ้น และเสนอให้มีการสัมมนาประจำปีเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายความมั่นคง
 
สำหรับผลการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลเพื่อซักถามทั้ง 6 แห่ง นั้น ในภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเห็นถึงพัฒนาการของหน่วยงานแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม คณะตรวจเยี่ยมได้ให้ข้อเสนอแนะบางประการเพื่อให้หน่วยงานรับไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติม เช่น ควรมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวระหว่างการควบคุมตัวและซักถาม โดยต้องจัดเก็บข้อมูลในอุปกรณ์ที่มีความสามารถในการบันทึกในระยะเวลาที่นานเพียงพอต่อการตรวจสอบ ควรมีการปรับปรุงสภาพภายในห้องพักของผู้ต้องสงสัยให้เหมาะสมมากขึ้น และการตรวจร่างกายบุคคลต้องสงสัย ควรใช้แพทย์จากโรงพยาบาลที่ไม่ใช่ของสถานที่ควบคุมตัวหรือหากเป็นไปได้ ควรมีความเห็นที่สองทางการแพทย์ด้วย เป็นต้น ทั้งนี้ คณะตรวจเยี่ยมได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย กับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกควบคุมตัว
 
“ที่ประชุม กสม. ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 ได้รับทราบรายงานผลการหารือและตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวบุคคลเพื่อซักถามในพื้นที่จังหวัด ชายแดนภาคใต้ดังกล่าวแล้ว โดยเห็นว่ากระบวนการตรวจเยี่ยมสถานที่ควบคุมตัวจะเป็นกลไกที่สำคัญในการเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ตลอดจนสามารถสร้างความตระหนักและส่งเสริมความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นได้ในสถานที่ควบคุมตัวของรัฐ” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
 


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
20 กรกฎาคม 2565
 

20/07/2565

เลื่อนขึ้นด้านบน