กสม. สุภัทรา ร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

01/06/2566 286

                         วันที่ 31 พฤษภาคม 2566 ที่โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการโครงการสร้างความร่วมมือเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ด้านสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยกล่าวถึงวัตถุประสงค์การประชุมครั้งนี้ว่า เพื่อรวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์การทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งบทบาท ปัญหาอุปสรรค ความท้าทาย และข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองสิทธินักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกลไกที่เหมาะสม เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะภาพรวมทั้งประเทศต่อไป พร้อมทั้งบรรยายเรื่อง “บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แนวคิดและบทบาทของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ และกลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” โดยมีนางสาวรตญา กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวรายงาน

                         กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจัดตั้งและการดำเนินงานตามหลักการปารีส (Paris Principles) ถือเป็นสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ (National Human Rights Institution) โดยมีหน้าที่และอำนาจตามบทบัญญัติ มาตรา 247 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ 2560 และ มาตรา 26 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 จากนั้นได้บรรยายในเรื่องของ “บทบาทและคำนิยามของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2541 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้รับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีสาระสำคัญ คือ การรับรองสิทธิของบุคคลทุกคนที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการสาธารณะ รวมถึงเสนอปัญหาการดำเนินงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคหรือมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน ภายใต้การดำเนินงานอย่างสันติ โดยรัฐมีหน้าที่ในการประกันสิทธิมนุษยชนของทุกคนเพื่อคุ้มครองบุคคลจากการถูกคุมคามและการใช้ความรุนแรง ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการนิยามคำว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจน มีเพียงแต่การกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติของตนที่แตกต่างกันไป เช่น “ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน” “นักสิทธิมนุษยชน” หรือ “ผู้ปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน” โดยในรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ปี 2562 – 2565 พบว่าสถานการณ์ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดี ซึ่งรวมถึงการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมของสาธารณชนหรือการฟ้องปิดปาก (SLAPPs) ในช่วงสุดท้ายได้กล่าวถึง กลไกคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายต่าง ๆ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 161/1 และมาตรา 165/2 พระราชบัญญัติคุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกกำหนดเป็นประเด็นสำคัญหลักบรรจุอยู่ในแผน) เป็นต้น รวมถึงการคุ้มครองพยานหลักฐาน และการกลั่นแกล้งเพื่อขัดขวางการดำเนินงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังกล่าวถึง ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน ภายใต้การดำเนินงานของ กสม. กับการคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อตรวจสอบและให้ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแก้ไขปัญหาอย่างเป็นธรรม
                         ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2566 โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ คือ การประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังสถานการณ์ปัญหา และอุปสรรคของการเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม การร่วมกันประเมินความเสี่ยงและแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากการถูกคุกคาม รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะต่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมถึงการมีข้อเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน