กสม. ส่งเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์เวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลในพื้นที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา

25/11/2565 287

                         เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เวลา 12.30 - 15.20 น. ที่ห้องประชุมโรงเรียนบ้านบาจุ ตำบลปะแต อำเภอยะหา จังหวัดยะลา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มอบหมายสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้)  ลงพื้นที่ร่วมสังเกตการณ์เวทีการประชุมรับฟังความเห็นของประชาชนโครงการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล ขนาดกำลังการผลิต 3.0 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิต 6.0 เมกะวัตต์ ของบริษัทโรงไฟฟ้าเอกชน 2 แห่ง โดยมีผู้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ ประมาณ 200 คน ได้แก่ ประชาชนในพื้นที่ตำบลปะแต ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง เครือข่ายภาคประชาสังคม ผู้แทนพรรคการเมือง และสื่อท้องถิ่น                         

                         เวทีการประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้  ทางผู้จัดโครงการได้นำเสนอข้อมูล “การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลด้วยระบบไฟฟ้าแบบกังหันไอน้ำ” โดยมีนักวิชาการ/ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากเอกชนแห่งหนึ่งเข้าร่วม ซึ่งหลังจากการนำเสนอไปประมาณ 1 ชั่วโมง มีผู้เข้าร่วมการประชุมยกมือเเสดงความคิดเห็นและเสนอให้ทางบริษัทผู้จัดโครงการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นให้มากกว่านี้ โดยตั้งข้อสังเกตว่าเวลาที่กำหนดไว้ให้ชาวบ้านร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้นไม่เพียงพอที่จะรับทราบและเข้าใจข้อมูลได้อย่างครบถ้วน รวมทั้งปัญหาเรื่องรูปแบบและวิธีการประชาสัมพันธ์การจัดเวทีที่ไม่ทั่วถึงและเป็นไปอย่างกระชั้นชิด
 
                         ทั้งนี้ ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่มีประเด็นอันเป็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล เช่น บริเวณพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภค อาจก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำและปัญหาการขาดแคลนน้ำ เชื้อเพลิงบางประเภทจะก่อให้เกิดสารพิษ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน อีกทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวลดังกล่าวยังอยู่ใกล้แหล่งชุมชนและโรงเรียนปอเนาะด้วย และมีข้อเสนอให้ผู้จัดโครงการศึกษาวิจัยถึงความเหมาะสมของสถานที่ที่จะจัดตั้ง ข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้านของโครงการ และอยากให้มีตัวแทนจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นตัวกลางในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างบริษัทเจ้าของโครงการกับชุมชน
 
                         อนึ่ง สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ จะนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตการณ์ครั้งนี้ประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรวบรวมเป็นข้อมูลสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เสนอ กสม. พิจารณาต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน