กสม. ศยามล กสม. สุชาติ ร่วมเวทีหารือ "สถานการณ์ด้านพลังงานและการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้"

21/02/2566 280

                         เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 9.00 น. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ ผศ.ดร. สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ร่วมเวทีหารือ "สถานการณ์ด้านพลังงานและการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้" ณ ห้องประชุมมะเดื่อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้เข้าร่วมการหารือจากนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคประชาชน และผู้แทนของศูนย์อำนวนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
                         ในช่วงเช้าเป็นการหารือในประเด็น “การพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้” เพื่อรับทราบข้อมูลพื้นฐานด้านความยากจนและแนวทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ผ่านการวิจัยผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ต่อแรงงานไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ย้ายถิ่นกลับมาตุภูมิ : ความเปราะบาง และการฟื้นตัวในมิติเศรษฐกิจของครัวเรือน แผนพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และข้อเสนอของภาคประชาชนต่อแผนพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีข้อเสนอให้ศึกษาข้อมูลด้านพลังงาน ประกอบการพิจารณาหลักการและเหตุผลของการสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ เรื่องการบริหารจัดการ การประเมินและควบคุมผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตดั้งเดิม และกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน
                         ในช่วงบ่ายเป็นการหารือในประเด็น “สถานการณ์ด้านพลังงานและการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อรับทราบข้อมูลในแผนพัฒนาพลังงาน ศักยภาพพลังงานทดแทน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน ประสบการณ์และความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านพลังงาน ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และทางออกการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ 5 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ โดยมีข้อเสนอทางออกในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งลงทุนถูกกว่าชีวมวล ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน สามารถทำได้ทันที และมีการจ้างงานได้จำนวนมาก
 โรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แม้จะเป็นการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ดี แต่ควรต้องมีการปรับแผนการพัฒนาใหม่ โดยการเชื่อมร้อย 4 เมืองเศรษฐกิจ (เมืองปูทะเลโลก เมืองพืชพลังงาน เมืองผลไม้ และเมืองปศุสัตว์) มาเป็นทางเลือกส่วนหนึ่งมาหนุนเสริมเรื่องพลังงาน อีกทั้งการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการในพื้นที่จะต้องมีกระบวนการส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และต้องมีการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
                         ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ จะรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอต่อแผนพัฒนาและทางออกการพัฒนาพลังงานทดแทนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากการจัดเวทีหารือ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน