กสม. ลงพื้นที่เพื่อรับฟังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล

02/10/2566 619

                         เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566  เวลา 10.30 น. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช และผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาวรตญา  กอบศิริกาญจน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายดนัย  มู่สา ผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิมนุษยชนศึกษา ที่ปรึกษาคณะทำงาน และนางอาดีลา บูเดียะ ผู้อำนวยการกลุ่มงานบริหารงานยุติธรรมและอำนวยความเป็นธรรมศอ.บต. รวมทั้งเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับคณะทำงานขับเคลื่อนการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นคณะทำงานร่วมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงพื้นที่เพื่อรับฟังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ในพื้นที่อำเภอเบตง และประชุมร่วมกับนายสุริยศักดิ์  เหมือนอ่วม ผู้อำนวยการส่วนการทะเบียนราษฎร สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง นางสาวบุศริน  เถาวัลย์ ปลัดอำเภอเบตง นายศรัลวิชย์  นวลเจริญ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ ณ คริสตจักรบ่อน้ำร้อน ภาค 18 บ้านบ่อน้ำร้อน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

                         ทั้งนี้ การประชุมสรุปได้ว่า กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ในพื้นที่บ้านบ่อน้ำร้อน หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลายังประสบปัญหาด้านสถานะบุคคล และยังเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกิน สิทธิได้รับบริการสาธารณสุข และสิทธิขั้นพื้นฐานด้านอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมกันจัดกลุ่มประชาชน จำนวนประมาณ 376 คน เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

                         กลุ่มที่ 1 - บุคคลที่ได้รับการสำรวจเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ (เดินทางเข้าในประเทศไทย ก่อนวันที่ 30 กันยายน 2542) และถือบัตรประจำตัวบุคคลประเภท 6 โดย กรณีที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย ให้ดำเนินการรับคำร้องขอถิ่นที่อยู่อาศัยถาวร หลังจากมีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรแล้ว 5 ปี จะยื่นขอแปลงสัญชาติ เป็นสัญชาติไทยได้ และกรณีเกิดในประเทศไทย ให้ยื่นคำร้องขอหนังสือรับรองการเกิด

                         กลุ่มที่ 2 - บุตรของกลุ่มที่ 1 ที่เกิดในประเทศไทย ให้ยื่นคำร้องขอสัญชาติไทย

                         กลุ่มที่ 3 - ชาวลาหู่ที่อพยพเข้ามาใหม่ (เดินทางเข้าในประเทศไทย ภายหลังวันที่ 30 กันยายน 2542) และยังไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนราษฎร ให้ยื่นเรื่องขอจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท 0 และเมื่อครบ 5 ปี บุคคลดังกล่าวจะได้รับสิทธิการอาศัยชั่วคราว แต่ยังยื่นขอสัญชาติไทยไม่ได้ (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2564 )
 
                         ทั้งนี้ คณะทำงานจะประสานการปฏิบัติกับกรมการปกครอง ศอ.บต. อำเภอเบตง และภาคีเครือข่ายภาคเหนือ และแกนนำชาวลาหู่ เพื่อให้ความช่วยเหลือพิสูจน์สถานะการเกิด และขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของชาวลาหู่ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน