กสม. ลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนและผู้อาจได้รับผลกระทบจากโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ แยกท่ากูบ และแยกตาปาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเยี่ยมศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

24/02/2565 860

                         เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 9.30 น. นางสาวศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร   ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีประชาชนและหน่วยงานภายในจังหวัดสุราษฎร์ธานียื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 420 กับทางหลวงหมายเลข 401 (แยกท่ากูบ) และจุดตัดถนนเทศบาล (แยกตาปาน) ในพื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกลุ่มผู้ร้องเรียนได้ให้ข้อมูลว่าการดำเนินโครงการไม่ได้มาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวยังเปรียบเสมือนเป็นประตูเมืองของจังหวัดสุราษฎร์ธานี หากมีการก่อสร้างทางแยกต่างระดับ อาจมีผลกระทบต่อผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม อีกทั้งโครงสร้างของสะพานอาจบดบังทัศนียภาพและทำลายอัตลักษณ์ของเมืองสุราษฎร์ธานี ซึ่งประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในพื้นที่ได้ร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอในการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ จะรวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
                         จากนั้น เวลา 15.00 น. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ เข้าเยี่ยมศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์เพชร ขวัญใจสกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี และคณะอาจารย์ ให้การต้อนรับ พร้อมนำเสนอผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ กสม.ศยามล ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังข้อจำกัดในการดำเนินงานตลอดถึงข้อเสนอในการทำงานร่วมกัน
                         ทั้งนี้ ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตลอดจนงานทางด้านวิชาการ ซึ่งประชาชนสามารถขอรับคำปรึกษาหรือยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้

เลื่อนขึ้นด้านบน