กสม. รับฟังข้อมูล สถานการณ์ และระดมความคิดเห็น ขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

06/04/2566 290

                         เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ นายบุญเกื้อ สมนึก ที่ปรึกษาประจำ กสม. นางหรรษา บุญรัตน์ รองเลขาธิการ กสม. นายภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ร่วมการสัมมนารับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมในประเด็นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ณ ห้องประชุม 704 สำนักงาน กสม.
                         โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา พร้อมอธิบายแผนงานเพื่อนำไปสู่การจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2 ในประเด็นการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ต่อด้วย นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บรรยายภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเปิดวงสัมมนาเพื่อรับฟังข้อมูล ความเห็น และข้อเสนอแนะจากเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวและขับเคลื่อนเชิงนโยบายในการยุติความรุนแรงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยองค์กรด้านเด็ก สตรี บุคคลหลากหลายทางเพศ คนพิการ ผู้สูงอายุ และแรงงานข้ามชาติ โดยผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคมได้นำเสนอประสบการณ์กรณีช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรงที่มีความซับซ้อน อาทิ เด็กพิการและผู้สูงอายุ ข้อจำกัดในการทำงาน ข้อจำกัดด้านกฎหมายหรือนโยบายที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐอย่างเหมาะสม รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ สาเหตุของความรุนแรงในครอบครัวที่มาจากทัศนคติและความเชื่อที่ยังมีอยู่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวความคิดอำนาจนิยมที่ผู้ชายเป็นใหญ่หรือเป็นผู้นำครอบครัว ในการนี้ วงเสวนาได้มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อรัฐในหลายมิติ เช่น การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและคุ้มครองผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวที่ขาดประสิทธิภาพให้มีความชัดเจนและใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเร็ว การพัฒนากลไกการป้องกันช่วยเหลือเยียวยาอย่างเป็นระบบ การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในระดับท้องถิ่น การให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในเชิงรุกและติดตามให้สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ                          นอกจากนี้ วงเสวนายังได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการสร้างความตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมเพื่อลดปัญหาความรุนแรง โดยผู้แทนภาคประชาสังคมจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเข้าร่วมการเสวนาผ่านระบบ zoom meeting ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานและข้อจำกัดต่าง ๆ ของภาคีเครือข่ายในการให้ความช่วยเหลือในเชิงพื้นที่ ทั้งนี้ กสม. จะลงพื้นที่รับฟังสถานการณ์และข้อเสนอแนะในพื้นที่ภาคใต้ และประชุมหารือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในลำดับถัดไป เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำร่างข้อมติประเด็นความรุนแรงในครอบครัว โดยจะปรึกษาหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ อีกครั้งก่อนนำเสนอในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชนที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 24 สิงหาคมนี้ รวมทั้งจะจัดทำรายงานข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน