กสม.หารือร่วมกับผู้แทนสำนักงาน OHCHR ในการประสานความร่วมมือ และการดำเนินงานเกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ

08/09/2566 625

                         เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 เวลา 15.00 น. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพิทักษ์พล  บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะ หารือร่วมกับ Mr. Dip Magar หัวหน้าทีมประเทศไทย ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (สำนักงาน OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมด้วย Mr. Ennio Boati เจ้าหน้าที่แผนยุทธศาสตร์และความสัมพันธ์ภายนอกระดับภูมิภาค (Strategic Planning and External Relations Officer) และนางสาวนิชาภา  ชาญวิสิฐกุล เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน ในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับสำนักงาน OHCHR ในปี 2567 และในปีต่อ ๆ ไป รวมทั้งเพื่อสนับสนุนบทบาท กสม. ในการเสริมสร้างหลักนิติธรรมและความรับผิดชอบ ตลอดจนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 รวมทั้งเพื่อหารือเกี่ยวกับประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมาของ กสม. ในปี 2566 ในด้านการป้องกันการทรมาน และรับฟังข้อเสนอแนะของ กสม. เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต
                         ในการนี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและคณะ ได้แลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานที่สำคัญของ กสม. ด้านการป้องกันการทรมาน ในปี 2566 ได้แก่ การร่วมผลักดันการมีผลใช้บังคับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ตามกำหนดเวลา การดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาเครื่องมือ มาตรฐาน และระบบการป้องกัน คุ้มครอง และเยียวยาตามกฎหมายดังกล่าว จำนวน 4 เรื่อง ในประเด็น (1) แนวทางการจัดตั้งกลไกการป้องกันระดับชาติ (NPM) และการพัฒนามาตรฐานการตรวจสถานที่คุมขังตามพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (OPCAT) (2) การพัฒนาแนวปฏิบัติและหลักสูตรการสืบสวนสอบสวนที่เคารพสิทธิมนุษยชนและมีประสิทธิผล (3) การพัฒนามาตรฐานและระบบการให้ความเห็นทางการแพทย์เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบและเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมาน และ (4) การพัฒนามาตรฐานและระบบการเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและการบังคับสูญหาย

                         นอกจากนี้ กสม. ยังได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำรายงานคู่ขนานตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) การจัดงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ปี 2565 และ 2566 ซึ่งประเด็นการป้องกันการทรมานถือเป็น 1 ในประเด็นสำคัญของ กสม. ภายใต้ประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรม การจัดตั้งเครือข่ายภาคประชาชนเฝ้าระวังการป้องกันการทรมาน ตามมาตรา 29 เป็นโครงการนำร่องในพื้นที่ภาคใต้ และการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการของ กสม. ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน พ.ศ. 2567-2569 ซึ่งสมาชิกกรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEANF) ได้ริเริ่มดำเนินการร่วมกันตามกรอบของแผนยุทธศาสตร์ SEANF พ.ศ. 2565-2569 โดย กสม. มีบทบาทนำในประเด็นดังกล่าว ซึ่งแผนฉบับนี้จะใช้เป็นกรอบการดำเนินงานของ กสม. ด้านการป้องกันการทรมานในช่วงเวลาดังกล่าวที่มีความครอบคลุมและบูรณาการงานในทุกด้านเข้าด้วยกันอย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งในปี 2567 กสม. จะเน้นการผลักดันและขับเคลื่อนงานในด้านการป้องกันการทรมานตามแผนปฏิบัติการดังกล่าวร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมทั้งการริเริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อการทำหน้าที่ NPM ในอนาคต (NPM Initiative) ในด้านต่าง ๆ
                          ในช่วงท้าย ผู้แทนสำนักงาน OHCHR ได้แสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าและความพร้อมในการดำเนินงานด้านการป้องกันการทรมานของ กสม. โดยเฉพาะการจัดทำร่างแผนปฏิบัติการของ กสม. ว่าด้วยการป้องกันการทรมาน พ.ศ. 2567-2569 ที่มีประเด็นที่น่าสนใจที่หลากหลายและครอบคลุมประเด็นสำคัญในทุกด้าน พร้อมทั้งเสนอที่จะให้ความร่วมมือและความช่วยเหลือทางวิชาการกับ กสม. ในด้านการป้องกันการทรมานในประเด็นที่สอดคล้องกัน เช่น การพัฒนาศักยภาพในการจัดทำรายงานคู่ขนาน การพัฒนาศักยภาพในการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนและการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำทรมาน ซึ่งสำนักงาน OHCHR จะได้ประสานในรายละเอียดร่วมกับสำนักงาน กสม. ต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน