กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 4/2567 กสม. เปิดสำนักงานภาคอีสาน ร่วมเครือข่ายในพื้นที่ขับเคลื่อนงานและสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิฯ - ชี้ประกันสังคมจำกัดวงเงินค่าบริการทันตกรรม ส่งผลให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

02/02/2567 869

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 12.10 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 4/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. เปิดสำนักงานภาคอีสาน มุ่งประสานความเข้มแข็งเครือข่ายในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนงานและสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิฯ

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ออกประกาศแบ่งส่วนราชการภายในและขอบเขตหน้าที่และอำนาจของส่วนราชการในสังกัดสำนักงาน กสม. พ.ศ. 2565 โดยได้จัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) รับผิดชอบพื้นที่ในเขต 20 จังหวัด ให้เป็นส่วนราชการในส่วนภูมิภาคแห่งที่สอง ถัดจากสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ โดยเริ่มเปิดสำนักงานฯ ให้บริการประชาชนมาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2566  ณ อาคารพาณิชย์ในโครงการตลาดจอมพล ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 นี้ ได้มีพิธีเปิดสำนักงานฯ อย่างเป็นทางการ และมีการจัดสัมมนาเครือข่าย เพื่อรับฟังปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่ตลอดจนเสริมสร้างและพัฒนาสัมพันธภาพเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เครือข่ายภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเป็นการประชาสัมพันธ์หน่วยงานและภารกิจของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เป็นที่รับรู้โดยทั่วไป
 
            ที่ผ่านมา สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ดำเนินงานด้านการคุ้มครอง ส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ที่สำคัญ เช่น การขับเคลื่อนงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defender) ด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษาในชุมชนและหน่วยงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ตลอดจนประสานความร่วมมือกับภาคประชาสังคมและสถาบันการศึกษาจัดกิจกรรมส่งเสริมความตระหนักรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบสิทธิมนุษยชน
 
            สำหรับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่ปี 2560 – 2566 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวอ้างว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเรื่องที่ขอให้ กสม. ดำเนินการ รวมทั้งเรื่องที่ กสม. เห็นควรให้มีการพิจารณา ทั้งสิ้น 717 เรื่อง เมื่อจำแนกข้อมูลพบว่าประเภทสิทธิมนุษยชนที่มีการร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ (1) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีร้องเรียนว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้าหรือได้รับความไม่เป็นธรรมในกระบวนการตรวจค้น จับกุม และดำเนินคดี (2) สิทธิและความเสมอภาคทางเพศ เช่น กรณีร้องเรียนขอให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนมีห้องสุขาสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (3) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีขอให้คุ้มครองความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (4) สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เช่น กรณีร้องเรียนว่าการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์ทับที่ดินทำกินและป่าชุมชนหรือกรณีหน่วยงานของรัฐรังวัดที่ดินสาธารณะประโยชน์ทับที่ทำกินของประชาชน และ (5) สิทธิชุมชน เช่น กรณีร้องเรียนว่าชุมชนได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่หรือประชาชนขาดการมีส่วนร่วมในโครงการบริหารจัดการน้ำ

            ส่วนประเด็นสิทธิอื่น ๆ ที่มีการร้องเรียน เช่น สิทธิและสถานะบุคคล สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว สิทธิแรงงาน สิทธิทางการศึกษา เป็นต้น โดยหน่วยงานที่ถูกร้องว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานเอกชน 
 
                “สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแผนการดำเนินงานที่สำคัญต่อไปคือการพัฒนาความเข้มแข็งและสร้างการมีส่วนร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนในพื้นที่ ในการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้แก่ประชาชน ชุมชนและเยาวชน นอกจากนี้ ยังจะมีการเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์เสี่ยงร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ  เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อไป” นายวสันต์ กล่าว
 
            ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้บริการหรือติดต่อ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ที่ อาคารพาณิชย์ เลขที่ 555/67 โครงการตลาดจอมพล หมู่ 13 ถนนกสิกรทุ่งสร้าง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น 40000 หรือ โทร. 043-306324 – 325, 043-306344 – 346 อีเมล nhrc.esarn@nhrc.or.th

            2. กสม. ชี้ ประกันสังคมจำกัดวงเงินค่าบริการทันตกรรม ส่งผลให้ผู้ประกันตนเข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เสนอให้เร่งแก้ไข อย่างน้อยต้องเทียบเท่ากับบัตรทอง

นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนมกราคม 2566 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็นได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งแตกต่างจากผู้มีสิทธิในอีกสองระบบที่สามารถเบิกได้ตามความจำเป็น ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน โดยในปี 2559 คณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) ได้ออกประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเบิกค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐาน ได้แก่ ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด จำกัดในวงเงินเพียง 900 บาท ต่อคนต่อปี ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็น ส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวมและเพิ่มความรุนแรงของโรคทันตกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งที่พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคนที่จะต้องได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมกันและเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน จึงขอให้ตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกัน
ในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องใดจะกระทำมิได้ และบุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยรัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง และบัญญัติรับรองสิทธิดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR)
            การที่คณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของผู้ถูกร้องได้ประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนเบิกค่าบริการทันตกรรมรวมกันทุกรายการได้ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่กำหนดอัตราค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานเกินกว่า 900 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกันตนไม่สามารถเบิกได้ ส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการทันตกรรมได้เพียง 1 - 2 รายการ และจำนวนหัตถการส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเต็มวงเงิน 900 บาท อาทิ ขูดหินปูน 900 – 1,800 บาท อุดฟัน 800 – 1,500 บาท ถอนฟัน 900 – 2,000 บาท ผ่าฟันคุด 2,500 - 4,500 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดวงเงินที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการดูแลทันตสุขภาพของประชาชนของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และทันตแพทยสภา
 
            นอกจากนี้ สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพอีกหลายประเภท เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและรักษาสุขภาพช่องปากและฟันทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ ซึ่งแตกต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง และผู้มีสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐที่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าวได้
 
            กสม. เห็นว่า การที่คณะกรรมการประกันสังคม กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมของผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ให้เบิกได้เฉพาะกรณีถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าฟันคุด รวมกันทุกรายการไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี เป็นการกำหนดวงเงินการเบิกค่าบริการทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อความจำเป็นด้านสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการทันตกรรมที่จำเป็นสำหรับผู้ประกันตนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มวัยทำงาน จึงเป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตนในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน
 
            อย่างไรก็ตาม กสม. มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า บริการทันตกรรมเป็นเพียงกรณีตัวอย่างของปัญหาความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและระบบสาธารณสุขไทยที่มีมายาวนาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้ประกันตน หากพิจารณาในภาพรวมของประเทศจะพบว่า ประชาชนถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม โดยมี 3 ระบบกองทุนแยกจากกัน ภายใต้กฎหมายในเรื่องหลักประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ทำให้ประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงสิทธิในสุขภาพที่จำเป็นขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกันตนซึ่งควรได้รับสิทธิไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
 
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์ ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เรื่อง หลักเกณฑ์ และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
 
            นอกจากนี้ มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ให้คณะกรรมการประกันสังคม และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมกันดำเนินการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ ตามมาตรา 5 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว
 
 


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 กุมภาพันธ์ 2567
 

02/02/2567

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน