กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 44/2565 กสม. ชี้กรณีจังหวัดขอนแก่นไม่มีคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเป็นการละเมิดสิทธิ เสนอสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนและชุมชนต่างศาสนา ลดความขัดแย้งสร้างสันติสุข - ระบุกรณีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยล่าช้าเป็นการละเมิด เสนอทบทวนบทบาทและปรับปรุงกฎหมายเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว - เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งแก้ปมพิพาทระหว่างเอกชนกับชาวเลอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ หลังถูกปิดเส้นทางสัญจรสาธารณะ

15/12/2565 279

วันที่ 15 ธันวาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)
โดย นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 44/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
            1. กสม. เผยกรณีจังหวัดขอนแก่นไม่มีคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเป็นการละเมิดสิทธิ แนะมหาดไทยสร้างความเข้าใจชุมชนต่างศาสนาเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างสันติสุข

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ได้ใช้บ้านพักส่วนตัวในพื้นที่ตำบลพระลับ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ประกอบศาสนกิจตั้งแต่ปี 2556 ต่อมาเมื่อปลายปี 2559 ได้ยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งบ้านหลังดังกล่าวเป็นมัสยิดต่อคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่น ซึ่งคณะกรรมการอิสลามฯ ได้มีมติเห็นชอบและจัดส่งเอกสารยื่นคำขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดต่ออำเภอเมืองขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 1) และจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 2) ในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 เพื่อพิจารณา รับจดทะเบียนตามขั้นตอน ต่อมา เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 สมัชชาชาวพุทธเพื่อความมั่นคงของชาติจังหวัดขอนแก่น (ผู้ถูกร้องที่ 3) ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออำเภอเมืองขอนแก่นเพื่อคัดค้านการจัดตั้งมัสยิด โดยให้เหตุผลว่า การมีมัสยิดอาจทำให้มีกลุ่มผู้ก่อการร้ายเข้ามาในพื้นที่ มีเสียงรบกวน และอาจมีการบุกรุกถมหนองน้ำบริเวณหน้ามัสยิด เป็นต้น เป็นเหตุให้จังหวัดขอนแก่นมีหนังสือระงับการจดทะเบียนไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขอนแก่นและผู้ขออนุญาตจัดตั้งมัสยิด รวมทั้งมีคำสั่งไปยังอำเภอเมืองขอนแก่นให้จัดทำประชาคมเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ และต่อมาได้มีการจัดทำประชาคมขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ผลปรากฏว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้มีมัสยิด ผู้ร้องเห็นว่าอำเภอเมืองขอนแก่นและจังหวัดขอนแก่นสร้างขั้นตอนการประชาคมโดยไม่เป็นตามกระบวนการ ที่กฎหมายกำหนด และไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด รวมถึงการที่สมัชชาชาวพุทธฯ ต่อต้านการจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิด เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ 
            กสม. ได้พิจารณาคำร้อง ข้อเท็จจริงและความเห็นจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบทบัญญัติของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 30 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาและการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน แต่ต้องไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทย ไม่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
            กรณีตามคำร้องแยกพิจารณาได้สองประเด็น ดังนี้ ประเด็นแรกพิจารณาว่าการที่จังหวัดขอนแก่น ไม่มีคำสั่งรับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาระยะเวลาตั้งแต่อำเภอเมืองขอนแก่นเสนอเรื่องขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดต่อจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดขอนแก่น ได้มีหนังสือสั่งการให้อำเภอเมืองขอนแก่นจัดทำประชาคมนั้น รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีคำสั่งรับหรือไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดดังกล่าว ถือเป็นระยะเวลาเกินกว่าที่พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 กำหนด การกระทำของจังหวัดขอนแก่นจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร อันเป็นเหตุให้ผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเสียสิทธิในการดำเนินการอื่นอันพึงมี รวมถึงอาจกระทบสิทธิชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามที่ประสงค์จะประกอบพิธีกรรมในมัสยิดที่ได้รับการจดทะเบียนดังกล่าว ในชั้นนี้การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชน
            ประเด็นที่สอง พิจารณาว่าการที่สมัชชาชาวพุทธฯ คัดค้านไม่ให้มีการจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า การจัดตั้งหรือจัดสร้างมัสยิดถึงแม้จะเป็นสิทธิและเสรีภาพของผู้ขออนุญาตตามที่กฎหมายให้อำนาจ แต่ขณะเดียวกันเมื่อชาวบ้านที่อยู่บริเวณโดยรอบเห็นว่าหากมีการอนุญาตให้จัดตั้งมัสยิดจะกระทบต่อวิถีชีวิตหรือจารีตประเพณีท้องถิ่น ก็ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายในการเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้งดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของชุมชนด้วย โดยกรณีที่สมัชชาชาวพุทธฯ และชาวบ้านคัดค้านการจัดตั้งมัสยิดด้วยกังวลว่าการใช้เสียงในการอาซาน จะรบกวนการอยู่อาศัยของประชาชนโดยรอบนั้น มัสยิดได้รับฟังความคิดเห็นของชุมชนและปรับแก้การใช้เสียงโดยหันลำโพงเข้าด้านในและลดระดับเสียงลงเพื่อให้ได้ยินแค่ภายในสถานที่แล้ว ส่วนกรณีเกรงว่ามัสยิดจะบุกรุกถมหนองน้ำบริเวณหน้ามัสยิดนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หนองน้ำสาธารณะดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบของอำเภอเมืองขอนแก่นและองค์การบริหารส่วนตำบลพระลับซึ่งหากมีการรุกล้ำถม หนองน้ำจริงก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย
            สำหรับกรณีที่ชาวบ้านเกรงว่าหากมีมัสยิดจะมีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเข้ามาในพื้นที่นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลมัสยิดกว่า 4,000 แห่ง ของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการยกเลิกการจัดตั้งมัสยิดด้วยเหตุผลจากการใช้มัสยิดในการก่อการร้ายแต่อย่างใด และจะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มิได้เกิดจากการมีมัสยิดหรือการใช้มัสยิดเป็นฐานที่ตั้งในการก่อความไม่สงบด้วย กรณีนี้จึงเป็นความกังวลของประชาชนที่อาจเกิดจากความเชื่อข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ตีตรา เหมารวม และสร้างความเกลียดชัง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอคติต่อศาสนาอิสลามและชาวไทยมุสลิมจนเกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคมและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยส่วนรวม และอาจทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนตามมาในอนาคต
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรมีเสนอแนะมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสรุปได้ดังนี้
            1) ให้จังหวัดขอนแก่นสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ชุมชนที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับ เรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา และมีคำสั่งรับหรือไม่รับจดทะเบียนจัดตั้งมัสยิดตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
            2) ให้กระทรวงมหาดไทยแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดหาแนวทางสร้างความเข้าใจ ในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนในชุมชนที่อยู่ต่างศาสนาเพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน โดยเฉพาะให้จังหวัดขอนแก่นทำความเข้าใจกับสมัชชาชาวพุทธฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา รวมถึงกำชับให้พิจารณามีคำสั่งในเรื่องลักษณะเดียวกันตามกรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดโดยเคร่งครัด
            3) ให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยนำแนวทางของสำนักจุฬาราชมนตรีในเรื่องการปฏิบัติของชาวไทยมุสลิมในโอกาสต่าง ๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม และแจ้งไปยังมัสยิดทั่วประเทศเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป
            4) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย หารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางในการทำความเข้าใจกับวัดและเครือข่ายผู้นำทางศาสนาต่าง ๆ เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการสร้างศาสนสถานของศาสนาอิสลามหรือศาสนาอื่นเพื่อป้องกันความขัดแย้ง ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
            2. กสม. ชี้กรณีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมวินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยข้าราชการล่าช้ากว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นการละเมิดสิทธิ เสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและความรวดเร็ว

นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง 2 ราย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ระบุว่า ภายหลังหน่วยงานราชการต้นสังกัดมีคำสั่งไล่ผู้ร้องออกจากราชการแล้ว ผู้ร้องทั้งสองได้ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ซึ่งรายหนึ่ง ก.พ.ค. ได้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 อีกรายหนึ่งได้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2562 แต่จนกระทั่งเดือนเมษายน 2565 ผู้ร้องทั้งสองยังไม่ได้รับทราบผลการพิจารณาอุทธรณ์จาก ก.พ.ค. แต่อย่างใด จึงร้องเรียนมาเพื่อขอความเป็นธรรม
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เพื่อแก้ไขอุปสรรคในการดำเนินการทางวินัยของข้าราชการพลเรือน เช่น ความไม่เป็นธรรมและมาตรฐานโทษที่เหลื่อมล้ำกัน ความล่าช้าในการพิจารณาสอบสวน และความซับซ้อนในการทำความเข้าใจในเรื่องกฎหมายและระเบียบทางวินัย เป็นต้น ซึ่งการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองถือเป็นกระบวนการ ในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งทางปกครองนั้น ให้ได้รับโอกาสในการโต้แย้งคำสั่งเพื่อให้มีการทบทวน แก้ไข หรือเพิกถอนคำสั่ง อันถือเป็นการอำนวยความยุติธรรมทางปกครอง
            สำหรับกรณีตามคำร้องทั้งสองนั้น ผู้ร้องทั้งสองได้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยต่อ ก.พ.ค. โดยที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ได้วางกรอบเวลาของการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ เว้นแต่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้ การพิจารณาไม่แล้วเสร็จก็ให้ขยายเวลาได้อีกซึ่งไม่เกิน 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะต้องไม่เกิน 60 วัน รวมระยะเวลาอย่างช้าที่สุดในการพิจารณาวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ต้องแล้วเสร็จภายใน 240 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์
            อย่างไรก็ดี ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในขณะที่ กสม. ได้รับคำร้องทั้งสองนี้ ก.พ.ค. ยังดำเนินกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องทั้งสองไม่แล้วเสร็จ โดยเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี นับแต่ได้รับอุทธรณ์เมื่อปี 2562 อันไม่เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในช่วงเวลาระหว่างนั้น ผู้ร้องทั้งสองถือเป็นผู้ถูกลงโทษให้ไล่ออกจากราชการจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใด ๆ รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีของข้าราชการ เป็นเวลายาวนานไปจนกว่า ก.พ.ค. จะมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งลงโทษ หรือในกรณีที่ผู้ร้องทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของ ก.พ.ค. ก็จะต้องนำคดีไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งทำให้ระยะเวลาต้องยาวนานออกไปอีกจนกว่า ศาลปกครองสูงสุดจะพิพากษาคดีอันเป็นที่สุด ด้วยเหตุนี้จึงเห็นว่า ความล่าช้าในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. ย่อมกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องซึ่งมีสถานะเป็นผู้อุทธรณ์ ทั้งสิทธิที่จะได้รับ การเยียวยาความเสียหายและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ จึงถือเป็นการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็น การละเมิดสิทธิมนุษยชน
            อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประเด็นปัญหาความล่าช้าในเชิงระบบ พบว่า ก.พ.ค. มีข้อจำกัดด้านอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนน้อยกว่า 30 คน ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจซึ่งปัจจุบันมีเรื่องอุทธรณ์ทั้งเรื่องเดิมและเรื่องรับใหม่กว่า 1,000 เรื่อง ทั้งปัจจุบันยังไม่มีการตรากฎหมายให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่สนองต่อภารกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.พ.ค. โดยตรง ทำให้มีข้อจำกัดในเรื่องอำนาจการบริหารงานซึ่งไม่อาจทำได้อย่างอิสระ โดยเฉพาะในเรื่องขอรับการจัดสรรงบประมาณและการกำหนดอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหา สรุปได้ดังนี้
            1) ให้ ก.พ.ค. ดำเนินการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และพิจารณาทบทวนแก้ไขหรือปรับปรุงกฎ ก.พ.ค. ว่าด้วยการอุทธรณ์และ การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ พ.ศ. 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการตามพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 โดยประการสำคัญคือ ต้องไม่กระทบต่อความเป็นธรรมที่จะอำนวยให้แก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย และให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) สนับสนุนอัตรากำลังในตำแหน่งนิติกรมาเป็นกรณีพิเศษโดยเร่งด่วน เพื่อให้เพียงพอกับปริมาณงานด้าน การพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ทั้งนี้ ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้
            2) ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแก้ไขหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีหน่วยงานที่มีหน้าที่สนองต่อภารกิจซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.พ.ค. โดยตรง รวมทั้งควรทบทวนปรับปรุงบทบาทอำนาจหน้าที่ในส่วนของการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ โดยปรับบทบาทให้มีความยืดหยุ่นในการระงับข้อขัดแย้งอันเกิดจากการบริหารงานบุคคลแทนบทบาทเดิมที่พิจารณาในลักษณะองค์กรตุลาการ ในส่วนเรื่องร้องทุกข์ที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. นั้น อาจมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีการร้องทุกข์ไปยังคณะอนุกรรมการสามัญประจำกรม (อ.ก.พ. กรม) หรือ คณะอนุกรรมการสามัญประจำจังหวัด (อ.ก.พ. จังหวัด) เพื่อให้การปฏิบัติงานของ ก.พ.ค. เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและไม่ล่าช้า
            3. กสม. เตรียมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาที่ดินและข้อพิพาทระหว่าง ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวผู้อ้างกรรมสิทธิ์ที่ดินกับกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ หลังถูกปิดเส้นทางสัญจรสาธารณะในพื้นที่

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล กับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เอกชนได้เข้าปิดถนนที่ชาวเลใช้สัญจรไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน และออกไปทะเล ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นข้อพิพาทในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะระหว่างชาวเล หน่วยงานของรัฐ และธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นกรณีที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 14 คำร้อง โดย กสม. ได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 9 คำร้อง และอยู่ระหว่าง การตรวจสอบอีกจำนวน 5 คำร้อง อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สิทธิในการจัดการที่ดิน และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีที่รัฐประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับที่ดินของชาวเลซึ่งอยู่มาก่อนยาวนาน การเข้ารุกล้ำร่องน้ำสาธารณะของเอกชน และการประกอบกิจการธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและ การประกอบอาชีพของชาวเลอูรักลาโว้ย
            โดยที่ผ่านมา กสม. ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ให้มีการตรวจพิสูจน์กระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับ ทุกฝ่าย ให้มีการกำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และการกำหนดการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น แต่ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ยังคงอยู่ และปัจจุบันปรากฏสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น
ในพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในท้ายที่สุด โดยเห็นว่าทุกฝ่ายจะต้องเคารพสิทธิชุมชนดั้งเดิมและปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)
            กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2565 จึงมีมติเห็นควรจัดทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหา ข้อพิพาทตามข้อเสนอแนะที่ผ่านมาของ กสม. ทั้งนี้ กสม. จะได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมเฝ้าระวังและสังเกตการณ์สถานการณ์
ความขัดแย้งในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
15 ธันวาคม 2565

15/12/2565

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน