กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 10/2565 กสม. ร่วมองค์กรเครือข่ายจัดอบรมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันการทรมานให้แก่เจ้าหน้าที่-ภาคประชาสังคม หนุนร่างกฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายผ่านออกมาบังคับใช้ - กสม. เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในเวทีโลก คาดรู้ผลภายในมีนาคมนี้

17/03/2565 845

วันที่ 17 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายพิทักษ์พล บุณยมาลิก เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 10/2565 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้
​                1. กสม. ร่วม OHCHR และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อบรมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันการทรมานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิฯ และภาคประชาสังคม
​                ปัญหาการซ้อมทรมานเป็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2561 – 2565 (ข้อมูล ณ 25 กุมภาพันธ์ 2565) กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัวจำนวน 93 เรื่อง โดย กสม. มีความห่วงกังวลในประเด็นปัญหาดังกล่าวและติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการกล่าวอ้างว่าถูกกระทำทรมานหรือทำร้ายร่างกายในระหว่างการจับกุมตัวหรือสอบสวนเพื่อให้รับสารภาพโดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐด้านความมั่นคง ซึ่งพบว่า รูปแบบและวิธีการกระทำทรมานมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ท้าทายสำหรับเจ้าหน้าที่ในการแสวงหาและรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ตลอดจนพยานหลักฐานต่าง ๆ ทั้งจากฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง ในส่วนของการทำงานกับผู้ร้องเรียนซึ่งถือเป็น “เหยื่อ” ที่มีความบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจนั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากจำเป็นต้องมีองค์ความรู้ในหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแล้ว ยังควรต้องได้รับการพัฒนาทักษะและเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ เพื่อให้สามารถจัดทำรายงานการตรวจสอบแบบองค์รวม ทั้งนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ที่ได้จากการดูแลรักษาเยียวยาเหยื่อ ถือเป็นข้อมูลอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการแสวงหาข้อเท็จจริง
​                ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดและหลักการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำทรมาน ตลอดจนแนวทางการดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเป็นระบบในประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 - 11 มีนาคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงได้ร่วมกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรม และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดการฝึกอบรม “การป้องกันการทรมาน: การแสวงหาข้อเท็จจริงจากผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง” ให้แก่ เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ภาคใต้ เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ผู้แทนองค์กรเครือข่ายภาครัฐ เช่น กรมต่าง ๆ ในกระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวมทั้งผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม กว่า 100 คน ณ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ และผ่านระบบออนไลน์
​                การอบรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก (1) Dr. Laurent Subilia แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง สมาพันธรัฐสวิส (2) Ms. Camelia Doru, MD ผู้เชี่ยวชาญด้านการเก็บข้อมูลและบันทึกการสืบสวนสอบสวนกรณีอาชญากรรม ประเทศโรมาเนีย  (3) Mrs. Chakiba Marcolan-El Jaouhari ผู้มีประสบการณ์ทำงานในด้านการปฏิบัติต่อกลุ่มเปราะบาง และการฟื้นฟูเหยื่อจากการถูกทรมานและความรุนแรง สมาพันธรัฐสวิส (4) Mr. Arnaud Chaltin ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และ (5) นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ร่วมเป็นวิทยากร โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่และเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำทรมาน แนวทางการจดบันทึกทางการแพทย์และทางกฎหมาย เพื่อนำไปปรับใช้ในการแสวงหาข้อเท็จจริง ตลอดจนวิธีการดูแลเยียวยาเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการกระทำทรมานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจอย่างเป็นระบบ
​                “การป้องกันการกระทำทรมานรวมทั้งการบังคับให้สูญหาย เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสิทธิในกระบวนการยุติธรรมที่ กสม. มีความห่วงกังวล และถือเป็นนโยบายสำคัญในปีนี้ที่ กสม. เร่งขับเคลื่อนทั้งในภารกิจด้านการส่งเสริม คุ้มครอง และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยล่าสุด กสม. ได้จัดทำแคมเปญรณรงค์ในหัวข้อ จับอย่างระวัง เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิของผู้ต้องหาและผู้ถูกควบคุมตัวที่จะต้องไม่ถูกกระทำทรมานตลอดจนการบังคับให้สูญหายด้วย ทั้งนี้ กสม. ขอสนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทําให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... ให้ผ่านออกมาบังคับใช้โดยเร็ว ทั้งนี้ให้สอดคล้องและเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล” กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว
​                2. กสม.  เข้ารับการสัมภาษณ์เพื่อเลื่อนสถานะจาก B เป็น A ในเวทีโลก คาดรู้ผลภายในเดือนมีนาคม 2565
​                เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565 เวลา 17.00น. นางสาวพรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ารับการสัมภาษณ์จากคณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI) เพื่อประกอบการพิจารณาประเมินสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จากสถานะ B เป็นสถานะ A หลังจากที่ SCA มีมติปรับลดสถานะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลงจาก A เป็น B เมื่อต้นปี 2559 และมีมติเมื่อเดือนธันวาคม 2563 ให้เลื่อนการพิจารณาประเมินสถานะของ กสม.ไทยออกไป 18 เดือนหรือ 3 สมัยประชุม ภายหลังการเข้ารับการประเมินสถานะของ กสม.คราวก่อน โดยการเข้ารับการประเมินสถานะของ กสม. นี้เป็นการประเมินถึงความสอดคล้องกับหลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ “หลักการปารีส” (Paris Principles) ซึ่งสถานะ A หมายถึง มีความสอดคล้องกับหลักการปารีสโดยสมบูรณ์
​                ในการเข้ารับการประเมินในครั้งนี้ ประธาน กสม. ได้ตอบคำถามในประเด็นข้อห่วงกังวลตามรายงานของ SCA ใน 4 ประเด็น ได้แก่
​                1. มาตรา 247 (4) ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 26 (4) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กสม. ที่กำหนดให้ กสม. ชี้แจงและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องโดยไม่ชักช้าในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม อาจกระทบกับความเป็นอิสระของ กสม. โดยประธาน กสม.ได้ยืนยันถึงความเป็นอิสระของ กสม. ขณะเดียวกันก็ได้ดำเนินการผลักดันให้มีการแก้ไขข้อกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
​                2. การสรรหาและแต่งตั้ง กสม. ชุดที่ 4 ที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ประธาน กสม.ชี้แจงว่า กสม. ชุดที่ 4 ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่กว่า 9 เดือนแล้ว และมีองค์ประกอบที่หลากหลาย ที่ยังอยู่ระหว่างการสรรหามีอีก 1 ราย ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยวุฒิสภาในช่วงกลางปีนี้
​                3. กระบวนการติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม. ประธาน กสม.ชี้แจงว่า ได้ให้ความสำคัญและมีกลไกในการทำงานเพื่อติดตามการปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ กสม.อย่างจริงจัง
​                4. หน้าที่และอำนาจกึ่งตุลาการของ กสม. ในการไกล่เกลี่ย ซึ่งเดิมพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 27 ได้เคยให้อำนาจแก่ กสม.ในการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท แต่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ไม่ปรากฏว่า กสม. มีหน้าที่และอำนาจดังกล่าว เรื่องนี้ กสม.ได้ชี้แจงว่า ได้ผลักดันให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้แล้ว ซึ่งทางฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติก็ให้การสนับสนุนให้ กสม.มีบทบาทหน้าที่ดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนส่งไปที่รัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป
​                คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ หรือ SCA ชุดปัจจุบัน ที่ทำหน้าที่ประเมินสถานะ กสม. ประกอบด้วย สมาชิก 4 คน จากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่มีสถานะ A ใน GANHRI จาก 4 ภูมิภาค ได้แก่ (1) แอฟริกาใต้ จากภูมิภาคแอฟริกา (2) กัวเตมาลา จากภูมิภาคอเมริกา (3) ปาเลสไตน์ จากภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ (4) อังกฤษ จากภูมิภาคยุโรป หาก กสม. ได้รับการเลื่อนสถานะจาก B เป็น A จะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของประเทศในด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ หาก กสม. อยู่ในสถานะ A จะสามารถแสดงบทบาทและมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศได้มากขึ้น อันจะทำให้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านต่าง ๆ กับนานาชาติได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนของไทยในระยะยาว ทั้งนี้ คาดว่าจะทราบผลการพิจารณาการเลื่อนสถานะของ กสม. โดย SCA ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2565

 

17/03/2565

เลื่อนขึ้นด้านบน