กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 27/2566 กสม. ชี้ กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าว “น้องต่อ” ละเมิดสิทธิเด็ก และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว

21/07/2023 1278

วันที่ 21 กรกฎาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 27/2566 โดยมีวาระสำคัญ 3 เรื่อง ดังนี้ 

            1. กสม. ชี้กรณีสื่อมวลชนเสนอข่าว “น้องต่อ” เป็นการละเมิดสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว


21-7-66-ข่าว-1-(6).jpg

 

นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนเสนอข่าวเด็กชายวัย 8 เดือน หรือ “น้องต่อ” หายตัวไปจากบ้านพักในพื้นที่จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีการนำเสนอข่าวและสอบถามข้อมูลด้วยคำถามที่ไม่เหมาะสมและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของเด็ก และมารดาซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี รวมถึงครอบครัวและบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสู่สาธารณะ โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) และเปิดเผยใบหน้า ซึ่งอาจกระทบต่อสิทธิเด็ก อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ กสม. จึงมีมติในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นควรให้หยิบยกกรณีดังกล่าวขึ้นตรวจสอบ

            กสม. พิจารณาข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 32 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 ประกอบกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้รับรองและคุ้มครองว่าการกระทำทั้งปวงที่เกี่ยวกับเด็กต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และเด็กจะไม่ถูกกระทำโดยมิชอบต่อเกียรติและชื่อเสียงรวมถึงในความเป็นส่วนตัวและครอบครัว และห้ามมิให้เผยแพร่ทางสื่อซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครองโดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหาย
แก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ

            จากการตรวจสอบรับฟังได้ว่า กรณีเด็กชายรายดังกล่าวหายตัวไปจากบ้านพัก และเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบวนการนิติวิทยาศาสตร์ตรวจหาดีเอ็นเอของบุคคลที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนสอบสวน ต่อมาปรากฏรายงานข่าวของสื่อต่าง ๆ กล่าวอ้างว่า ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าผลการตรวจดีเอ็นเอของเด็กตรงกับบุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลใกล้ชิดของครอบครัวและยังเปิดเผยรูปพรรณสัณฐานของบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นด้วย และมีรายงานเพิ่มเติมว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวมารดาของเด็กส่งศาลเยาวชนและครอบครัวโดยเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาความผิดทางอาญาหลายฐานนั้น

            กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในลักษณะดังกล่าวมีการเปิดเผยทั้งอัตลักษณ์ ข้อมูลส่วนบุคคลโดยเฉพาะเกี่ยวกับผลการตรวจหาดีเอ็นเอของเด็กและมารดาซึ่งอายุต่ำกว่า 18 ปี อันเป็นการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลที่เกินกว่าความจำเป็นเพื่อกิจการสื่อมวลชนโดยมิได้คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และไม่เป็นไปตามจริยธรรมทางการประกอบวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของเด็กและครอบครัว สำหรับการเปิดเผยอัตลักษณ์ของมารดาเด็กซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลย
ในคดีอาญาก็ถือว่าขัดต่อหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) โดยข้อมูลของบุคคลนั้น ๆ จะยังอยู่ในระบบและสืบค้นทางอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งนำไปสู่การตีตราอันกระทบต่อสิทธิที่จะถูกลืม (Rights to be Forgotten) ในชั้นนี้ จึงรับฟังได้ว่าการเผยแพร่ข่าวของสื่อมวลชนกรณีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            อย่างไรก็ตาม เมื่อปัจจุบันเป็นยุคแห่งการสื่อสารดิจิทัล ซึ่งทุกคนสามารถเป็นสื่อในโลกออนไลน์ได้ แต่เฉพาะบุคคลที่ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็น
โดยสามารถใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อกิจการสื่อมวลชนอันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบอาชีพหรือเป็นประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 4 (3) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ได้ ดังนั้น องค์กรสื่อมวลชนจึงต้องร่วมมือกันเพื่อดำรงจริยธรรมแห่งวิชาชีพ โดยพึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอาชญากรรมที่อาจนำไปสู่ผลกระทบเชิงลบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อยกระดับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการสื่อสารของสังคมโดยรวมให้มีความรับผิดชอบร่วมกัน จึงเห็นควร
มีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

            (1) ให้สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติประสานกับผู้ให้บริการโปรแกรมการสืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ลบข่าวที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะผลการตรวจดีเอ็นเอของเด็กชายรายดังกล่าว และข่าวเกี่ยวกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นการแก้ไขเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น และให้มีนโยบายและแนวปฏิบัติการนำเสนอข่าวที่ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมกำชับให้สื่อในกำกับดูแลปฏิบัติอย่างเคร่งครัดและขอความร่วมมือกับสื่อที่ไม่เป็นสมาชิกให้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นข่าวด้วย
            (2) ให้สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติกำชับการนำเสนอข่าวของสถานีโทรทัศน์และวิทยุให้ระมัดระวังไม่นำเสนอข่าวที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียงและครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง และให้แก้ไขเยียวยากรณีเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            (3) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับบุคลากรในทุกระดับชั้นที่ปฏิบัติหน้าที่สอบสวนและสืบสวน เผยแพร่ข้อมูลรูปคดีเท่าที่จำเป็น และต้องพึงระมัดระวังการกระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนได้

            2. กสม. ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ สภ.ปากน้ำ จ.ระนอง ทำร้ายแรงงานชาวเมียนมาระหว่างควบคุมตัว ชี้ละเลยการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ต้องหา 

 

21-7-66-ข่าว2-(6).jpg

 

 นายชนินทร์  เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม สถานีตำรวจภูธรปากน้ำ จังหวัดระนอง (ผู้ถูกร้อง) ได้ตรวจค้นและจับกุมชายแรงงานชาวเมียนมารายหนึ่ง (ผู้เสียชีวิต) ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยในระหว่างควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ได้ข่มขู่ ทำร้ายร่างกายและบังคับให้แรงงานรายดังกล่าวดื่มน้ำซึ่งคาดว่าอาจผสมสารบางชนิดที่ทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรงเพื่อให้รับสารภาพ ต่อมาขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวบิดาเลี้ยงและมารดาของผู้เสียชีวิต รวมทั้งตัวผู้เสียชีวิต ไปยังสถานีตำรวจภูธรปากน้ำ มารดาสังเกตเห็นว่าผู้เสียชีวิตมีอาการไม่ค่อยดี ไม่มีสติรู้ตัว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งต่อมาแรงงานรายดังกล่าวได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจกระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบกสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 4 ประเด็นดังนี้

            ประเด็นที่หนึ่ง ผู้ถูกร้องได้กระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้เสียชีวิต ด้วยการทำร้ายร่างกายผู้เสียชีวิตหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 28 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 7 ข้อ 9 และ ข้อ 10 ให้การรับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ โดยในคดีอาญาให้สันนิษฐาน
ไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ นอกจากนี้ การควบคุมตัวผู้ต้องหา อันเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาญา ตามมาตรา 84 มาตรา 84/1 และมาตรา 87 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ประกอบมาตรา 6 (3) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตร่างกายและอนามัยของผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการถูกควบคุมตัวตลอดเวลาด้วย

            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในวันเกิดเหตุก่อนที่จะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัว ผู้เสียชีวิตมีร่างกายแข็งแรง มีสติสัมปชัญญะเช่นบุคคลทั่วไป และไม่ปรากฏอาการบาดเจ็บใด ๆ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้เสียชีวิตไปยังสถานีตำรวจภูธรปากน้ำเพื่อตรวจหาสารเสพติด ก็พบว่าผู้เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งผู้เสียชีวิตได้แจ้งกับพยานรายหนึ่งว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้ดื่มน้ำบางอย่างที่ผู้เสียชีวิตไม่ทราบชนิดทำให้ผู้เสียชีวิตปวดหัวอย่างรุนแรง ทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกาย เมื่อนำรายงานการตรวจชันสูตรศพของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณาพบว่า ผู้เสียชีวิตมีร่องรอยบาดแผลบริเวณแก้มก้นและแผ่นหลังซึ่งมีลักษณะค่อนข้างใหม่ที่ไม่ได้เกิดจากการปั๊มหัวใจ นอกจากนี้ผลการตรวจชันสูตรศพการตรวจทางนิติพิษวิทยาที่กระเพาะอาหารของผู้เสียชีวิตไม่พบยา สารพิษ และสารเสพติด เพียงแต่พบปริมาณแอลกอฮอล์จากเลือดน้อยกว่า 10.00 mg% ซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียชีวิตได้ให้ข้อมูลว่าก่อนออกไปทำงานผู้เสียชีวิตได้เสพยาบ้าไป 1 เม็ด และไม่ได้เสพยาบ้าจำนวน 50 เม็ด ตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหา

            จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเชื่อว่า การบาดเจ็บของผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม อันแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ให้ความสำคัญที่เพียงพอต่อการคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของผู้ที่อยู่ระหว่างการควบคุมตัว จึงถือได้ว่าเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมาย

            ประเด็นที่สอง การใส่กุญแจมือผู้เสียชีวิตในขณะหมดสติและอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจะต่อสู้หรือหลบหนีได้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา วางหลักเรื่องการจับกรณีบุคคลซึ่งถูกจับขัดขวางหรือพยายามจะหลบหนี ให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับสามารถใช้วิธีป้องกันได้เท่าที่เหมาะสมกับพฤติการณ์ แต่กรณีนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจใส่กุญแจมือผู้เสียชีวิตขณะที่ผู้เสียชีวิตหมดสติอยู่ในพฤติการณ์ที่ไม่สามารถจะต่อสู้ หรือหลบหนีได้ จึงเห็นว่า เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ประเด็นที่สาม การจับกุมและควบคุมตัวบิดา และมารดาของผู้เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย บุคคลจะถูกจับกุมหรือควบคุมโดยอำเภอใจมิได้ และหากถูกจับกุมจะต้องได้รับแจ้งถึงเหตุผลในการจับกุม รวมถึงข้อหาที่ถูกจับกุมโดยพลัน ดังนั้น การที่ผู้ถูกร้องใส่กุญแจมือบิดาและมารดาของผู้เสียชีวิตพร้อมทั้งควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรปากน้ำ แต่กลับปล่อยตัวทั้งสองในภายหลังโดยไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาใด ๆ และปราศจากพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดหรือไม่ จึงเป็นการใช้อำนาจที่ไม่คำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย และเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
            ประเด็นที่สี่ เรื่องสาเหตุการเสียชีวิต ปรากฏว่า พนักงานอัยการจังหวัดระนองได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดระนองเพื่อขอให้ไต่สวนการตายแล้ว ขณะตรวจสอบและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดระนอง ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (1) บัญญัติให้เรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล เป็นเรื่องที่ห้ามมิให้ กสม. พิจารณา จึงมีมติให้ยุติการตรวจสอบในประเด็นนี้

            จากเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ต้องหาแรงงานชาวเมียนมารายดังกล่าว เยียวยาความเสียหายให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมต่อไป

            3. กสม. แนะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า หยุดการเผยแพร่สื่อที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 

21-7-66-ข่าว-3-(5).jpg

    นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ระบุว่า เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2565 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า) จัดกิจกรรม “พบปะกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ณ สโมสรนายทหารสัญญาบัตร กองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี โดยมีผู้แทนส่วนราชการและผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าร่วมประมาณ 500 คน กิจกรรมดังกล่าวมีการฉายวีดิทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเนื้อหาเรื่องการเคลื่อนไหวของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (BRN) โดยมีการนำภาพของบุคคลที่เป็นสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นมาประกอบ และใช้คำบรรยายภาพว่า “BRN ใช้กลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมต่อต้านโครงการพัฒนาพื้นที่ของรัฐ ควบคู่กับการลิดรอนอำนาจหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐ” ซึ่งการจัดทำและเผยแพร่วีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาดังกล่าว เป็นการนำภาพเครือข่ายฯ ไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตและเป็นการใช้ปฏิบัติการข่าวสร้างทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง อันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเครือข่ายฯ เกี่ยวข้องกับกลุ่ม BRN และเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เครือข่ายฯ ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง และเป็นการด้อยค่านักปกป้องสิทธิมนุษยชน จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. พิจารณาแล้ว เห็นว่า สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ได้รับการรับรองและคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยบุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ ภาพบุคคลย่อมเป็นข้อมูลส่วนบุคคลอันเกี่ยวด้วยสิทธิในความเป็นส่วนตัว การถ่ายหรือนำภาพบุคคลไปใช้จะกระทำได้จะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นโดยชัดแจ้งเสียก่อน และรัฐจะต้องไม่ละเมิด จำกัด หรือแทรกแซงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งงดเว้นการกระทำที่รบกวน สร้างอุปสรรค ชี้นำ หรือบิดเบือนการแสดงความคิดเห็นโดยอิสระของประชาชน ตลอดจนงดเว้นการตรวจตรา เฝ้าระวัง หรือตรวจสอบการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ไม่คำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักความจำเป็น และหลักความได้สัดส่วน

            จากการตรวจสอบการจัดทำวีดิทัศน์ดังกล่าว ทราบว่า กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ในฐานะผู้ถูกร้อง ประสงค์จะใช้วีดิทัศน์เป็นสื่อสำหรับการรายงานสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา โดยแสดงเนื้อหาที่มาจากการรวบรวมสถิติ การวิเคราะห์การก่อเหตุรุนแรง ปัจจัยในการก่อเหตุ และแนวโน้มสภาพการณ์การก่อเหตุ โดยนำภาพของผู้ร้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ได้มาจากสื่อออนไลน์มาใช้ โดยปราศจากความยินยอมของบุคคลในภาพโดยชัดแจ้ง
            ส่วนภาพบุคคลสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่นำมาประกอบการจัดทำวีดิทัศน์ยังปรากฏให้เห็นถึงตัวบุคคลอย่างชัดเจนโดยมิได้มีการปิดบังใบหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งการจัดเรียงภาพดังกล่าวมีลักษณะต่อเนื่อง ประกอบกับการบรรยายที่อาจทำให้เข้าใจได้โดยทั่วไปว่าสมาชิกเครือข่ายฯ มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกลุ่ม BRN แม้ผู้ถูกร้องจะให้ข้อเท็จจริงว่าเป็นเพียงการฉายภาพเรียบเรียงติดต่อกันเท่านั้นโดยไม่ได้นำเสนอว่าสมาชิกของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับกลุ่มขบวนการ BRN อย่างไรก็ดี เห็นว่า หากผู้ถูกร้องไม่มีเจตนาจะให้ภาพของกลุ่มเครือข่ายฯ เชื่อมโยงกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเลือกใช้ภาพของเครือข่ายฯ ดังนั้น การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการแทรกแซงสิทธิในความเป็นส่วนตัวของผู้ร้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นโดยปราศจากเหตุอันสมควร และย่อมถือได้ว่าเป็นการจงใจเผยแพร่ภาพส่วนบุคคลต่อสาธารณะ ทำให้เครือข่ายฯ ได้รับความเสียหายและกระทบสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัว ตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้

            นอกจากนี้ การนำภาพการจัดกิจกรรมชุมนุมคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะของเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ซึ่งถือเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ มาเป็นประเด็นเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่ ยังเป็นการลดทอนความชอบธรรมในการใช้สิทธิและเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายหรือโครงการพัฒนาของรัฐ อันเป็นการกระทำในลักษณะคุกคามหรือสร้างอุปสรรคทางอ้อมให้แก่เครือข่ายฯ ซึ่งเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่
17 กรกฎาคม 2566 จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า พิจารณาดำเนินการ สรุปได้ดังนี้

            ให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า สอบสวนหาข้อเท็จจริงและดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรวบรวมเนื้อหาข้อมูลและจัดทำสื่อดังกล่าว โดยต้องควบคุมกำกับให้สำนักอำนวยการข่าวกรอง และทุกหน่วยงาน
ในสังกัด ตรวจสอบกลั่นกรองความถูกต้องเหมาะสมของข้อมูลและสื่อก่อนที่จะเผยแพร่หรือนำเสนอ
ต่อสาธารณะ และดำเนินการให้ผู้ร้องและเครือข่ายฯ ได้รับการเยียวยา โดยทำลายและหยุดการเผยแพร่สื่อดังกล่าวทุกช่องทาง รวมทั้งให้ข้อเท็จจริงต่อสาธารณะว่าเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่ม BRN หรือกลุ่มผู้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามที่ผู้ร้องร้องขอ

            นอกจากนี้ ให้ทบทวนมาตรการและกำหนดแนวทางปฏิบัติในการผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ตลอดจนวิธีปฏิบัติการทางการข่าวที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม หรือเป็นการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องการเคารพหลักสิทธิมนุษยชนและแนวทางสันติวิธี รวมถึงการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและความเข้าใจ
ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย
   
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
21 กรกฎาคม 2566

ดาวน์โหลดเอกสาร : (27-66)-21-07-66-Press-release-เเถลงข่าว-27-2566.pdf

 

        
 

 

 

 

21/07/2566
Scroll to top