กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 9/2566 กสม. แนะกรมราชทัณฑ์และเรือนจำกลางเขาบิน คำนึงถึงสุขภาพและความพร้อมทางร่างกาย ก่อนส่งผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวเข้ารับการฝึกภาคสนาม หวั่นอันตรายถึงชีวิต

02/03/2023 151
 
วันที่ 2 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 9/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
            1. กสม. แนะกรมราชทัณฑ์และเรือนจำกลางเขาบิน คำนึงถึงสุขภาพและความพร้อมทางร่างกาย ก่อนส่งผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยเข้ารับการฝึกภาคสนาม
 
 
            นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งซึ่งเป็นผู้ต้องขังในเรือนจำกลางเขาบิน จังหวัดราชบุรี เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ระบุว่า ผู้ร้องได้รับความเดือดร้อนจากการที่เจ้าหน้าที่เรือนจำนำผู้ร้องซึ่งป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงไปฝึกตามมาตรการภายใต้โครงการส่งเสริมความมีระเบียบวินัย คุณธรรม และจริยธรรมของเรือนจำกลางเขาบิน ซึ่งเป็นการฝึกภาคสนาม เช่น การให้ยืนกลางแจ้งเป็นเวลานาน และการให้ฝึกท่าบริหารร่างกายต่าง ๆ จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและร่างกายของผู้ร้อง เช่น มีอาการปวดแสบปวดร้อน หน้ามืด จึงขอให้ตรวจสอบ
            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า กรณีตามคำร้องมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางเขาบินในการนำตัวผู้ร้องไปฝึกตามโครงการส่งเสริมความมีระเบียบวินัยฯ เป็นการทรมานผู้ร้องอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่
            จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของเรือนจำกลางเขาบินได้นำผู้ร้องไปเข้ารับการฝึกในโครงการดังกล่าวตามหน้าที่และอำนาจ และผู้ร้องสามารถลาฝึกได้หากมีอาการเจ็บป่วย โดยกรณีตามคำร้องนี้เป็นประเด็นเดียวกันกับเรื่องที่ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพชรบุรี และศาลปกครองเพชรบุรีได้มี คำพิพากษาแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2564 ซึ่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 39 (1) ประกอบมาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติห้ามมิให้ กสม. รับเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาลหรือเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว ไว้พิจารณา ในชั้นนี้จึงเห็นควรยุติเรื่อง
            อย่างไรก็ตาม กสม. มีความเห็นว่าการนำผู้ต้องขังที่มีโรคประจำตัวไปเข้ารับการฝึกตามโครงการดังกล่าวซึ่งมีกิจกรรมในลักษณะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้เข้ารับการฝึก สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกได้รับอันตรายแก่ชีวิตและร่างกายอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการดังกล่าวของเรือนจำกลางเขาบิน และเพื่อให้เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ตระหนักถึงการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่มีลักษณะเป็นกลุ่มเฉพาะที่อาจได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากมาตรการทั่วไปของเรือนจำตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อป้องกัน มิให้มีการกระทำอันมีลักษณะเป็นการทรมานและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กสม. ในคราวประชุม ด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะ ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกรมราชทัณฑ์ และเรือนจำกลางเขาบิน สรุปได้ดังนี้
            ให้กรมราชทัณฑ์และเรือนจำกลางเขาบินคำนึงถึงประวัติด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง ความเห็นของแพทย์ และความพร้อมด้านร่างกายของผู้ต้องขัง โดยเฉพาะผู้ต้องขังที่มีอาการเจ็บป่วยหรือมีโรคประจำตัว เพื่อประกอบการประเมินความเสี่ยงและป้องกันเหตุที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้ต้องขัง ก่อนที่จะ ให้ผู้ต้องขังเข้ารับการฝึกตามโครงการส่งเสริมความมีระเบียบวินัยฯ หรือโครงการอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติในระบบราชทัณฑ์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่มุ่งจะแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดให้กลับเข้าสู่สังคมได้
 
            2. กสม. เสนอแก้ไขกฎหมายการจัดสรรที่ดิน ผ่าทางตันให้หมู่บ้านจัดสรรที่ผู้จัดสรรที่ดินทิ้งร้างและไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้าน สามารถโอนสาธารณูปโภคเป็นสาธารณประโยชน์ได้
 
 
            นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องซึ่งอาศัยอยู่ ในโครงการหมู่บ้านจัดสรรของบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร ที่ไม่มีการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร แต่มีกลุ่มบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมของหมู่บ้านเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการหมู่บ้าน ทำให้ผู้อยู่อาศัยในหมู่บ้านได้รับผลกระทบหลายประการ อาทิ นำทรัพย์สินส่วนกลางไปให้เอกชนเช่า และอนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งใช้ถนนของหมู่บ้านขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน ทำให้ถนนเสียหาย ผู้อาศัยในหมู่บ้านได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง นอกจากนี้ ผู้ร้องยังมีความกังวลเรื่องบริษัทดังกล่าวถมดินลงไปในลำรางสาธารณะ อาจทำให้น้ำท่วมหมู่บ้านในฤดูฝน ทั้งนี้ ผู้ร้องได้ร้องเรียนต่อสำนักงานเขตบึงกุ่มแล้วแต่ยังไม่ได้รับแจ้งความคืบหน้า
            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า กรณีนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิชุมชน โดยมีประเด็นพิจารณาแยกเป็น 2 ประเด็น ดังนี้
            (1) การที่สมาคมของหมู่บ้านดังกล่าวอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำรถบรรทุกสัญจรผ่านเข้าออกถนนภายในหมู่บ้าน เป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อาศัยในหมู่บ้านหรือไม่
            เห็นว่า โครงการหมู่บ้านจัดสรรตามคำร้องได้ยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2524 ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 บัญญัติให้ สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินได้ จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ตกอยู่ในภาระจำยอม เพื่อประโยชน์ของที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่จะบำรุงรักษาให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นตลอดไป และจะทำการใด ๆ ให้ประโยชน์ลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ซึ่งต่อมาบริษัทของหมู่บ้านจัดสรรแห่งดังกล่าว ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ไม่สามารถทำหน้าที่ในการบำรุงรักษาสาธารณูปโภคของหมู่บ้าน ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรบางส่วนจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมของหมู่บ้านเพื่อทำหน้าที่ดูแลสาธารณูปโภค และได้อนุญาตให้บริษัทเอกชนรายหนึ่งซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ติดกับหมู่บ้านจัดสรรแห่งดังกล่าวนำรถบรรทุกสัญจรผ่านเข้ามายังถนนภายในหมู่บ้าน เพื่อออกไปยังถนนสาธารณะ
            ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับข้างต้นซึ่งใช้บังคับขณะที่บริษัทหมู่บ้านจัดสรรยื่นขออนุญาตจัดสรรที่ดิน ประกอบกับพระราชบัญญัติจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นกฎหมาย ที่ประกาศใช้ภายหลัง กำหนดให้ผู้มีสิทธิในการจัดการสาธารณูปโภคของหมู่บ้านจัดสรร ได้แก่ผู้จัดสรรที่ดินหรือนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรเท่านั้น ดังนั้น สมาคมของหมู่บ้านจัดสรรที่ถูกจัดตั้งขึ้นจึงมิใช่ผู้มีสิทธิ ในการจัดการสาธารณูปโภค และไม่สามารถอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำรถบรรทุกสัญจรผ่านถนนภายในหมู่บ้านจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของชุมชนและก่อให้เกิดความเดือดร้อนและกระทบต่อสิทธิ ในทรัพย์สินของผู้ร้องและผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวได้ จึงเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
            (2) บริษัทเอกชนซึ่งนำรถบรรทุกสัญจรผ่านเข้ามายังถนนภายในหมู่บ้านจัดสรร มีการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องซึ่งเป็นผู้อาศัยในหมู่บ้านหรือไม่
            เห็นว่า การที่บริษัทเอกชนจะนำรถบรรทุกขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างสัญจรโดยใช้ถนนทางสาธารณะของหมู่บ้าน แม้จะเป็นการสัญจรผ่านไปยังที่ดินในโครงการในหมู่บ้านจัดสรรแปลงที่ตนเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ของที่ดินหรือกิจการที่อยู่ภายนอกผังโครงการหมู่บ้าน ซึ่งถนนภายในโครงการหมู่บ้านถูกออกแบบและได้รับอนุญาตตามกฎหมายเพื่อใช้สำหรับประโยชน์ของที่ดินและที่อยู่อาศัยในโครงการหมู่บ้านเท่านั้น การที่นำรถบรรทุกสัญจรเข้าออกภายในถนนของโครงการหมู่บ้าน จนก่อให้เกิดความเดือดร้อนและกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของผู้ร้องและผู้อาศัยอยู่ชุมชน จึงเป็น การละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ร้องและผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าว
            ในส่วนของประเด็นร้องเรียนเรื่องว่าบริษัทเอกชนมีการถมดินกลบทับลำรางสาธารณะจนอาจก่อให้เกิดการขวางทางไหลของน้ำและอาจทำให้น้ำไหลท่วมท้นเข้ามายังโครงการหมู่บ้านนั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ลำรางสาธารณะมีแนวเขตสิ้นสุดที่บริเวณที่ดินอันเป็นที่ตั้งของบริษัทเอกชนดังกล่าวเท่านั้น ไม่ไหลผ่านถึงที่ดินแปลงอื่นในหมู่บ้าน จึงไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นนี้
            อย่างไรก็ตาม ปัญหาตามเรื่องร้องเรียนของผู้ร้องส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากโครงการหมู่บ้านไม่มีผู้ทำหน้าที่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคตามกฎหมาย เนื่องจากผู้จัดสรรที่ดินตกเป็นบุคคลล้มละลาย และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรยังไม่สามารถจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ ฉะนั้น เพื่อให้สิทธิของบุคคลในทรัพย์สินของผู้ร้อง ตลอดจนผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองที่ดินในโครงการได้รับความคุ้มครองตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน กสม. ในคราวการประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566 จึงมีข้อเสนอแนะไปยังสมาคมของหมู่บ้านและบริษัทเอกชนผู้นำรถบรรทุกสัญจรเข้าออกผ่านถนนของโครงการหมู่บ้านในฐานะผู้ถูกร้อง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร รวมทั้งคณะรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
            ให้สมาคมของหมู่บ้านยุติการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการสาธารณูปโภคของโครงการหมู่บ้าน และให้บริษัทเอกชนยุติการสัญจรเข้าออกผ่านถนนของโครงการหมู่บ้าน และดำเนินการให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าออกที่ดินตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยให้ดำเนินการซ่อมแซมผิวถนนภายในหมู่บ้านให้อยู่ในสภาพดีดังเดิม ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับแต่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
            ให้กระทรวงมหาดไทย โดยสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร เขตบึงกุ่ม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบึงกุ่ม ดำเนินการเชิงรุกด้วยการเป็นผู้ประสานงานให้ผู้ซื้อที่ดินจัดสรรของหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าวสามารถดำเนินกระบวนการเพื่อจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมาย เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในการดูแลสาธารณูปโภคของหมู่บ้านและป้องกันปัญหาความขัดแย้งระหว่างเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองที่ดินจัดสรรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งให้กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตบึงกุ่ม ตรวจสอบและดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำที่เอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่โครงการหมู่บ้านและตรวจสอบเหตุเดือดร้อนรำคาญด้านเสียง กลิ่น ฝุ่นละออง ฯลฯ ซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการของบริษัทเอกชนผู้นำรถบรรทุกสัญจรเข้าออกโครงการหมู่บ้าน หากพบเหตุให้เร่งแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งดำเนินการให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับการเยียวยาโดยเร็ว
            นอกจากนี้ ให้คณะรัฐมนตรี ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 เพื่อให้หมู่บ้านจัดสรรที่ผู้จัดสรรที่ดินทิ้งร้างไม่บำรุงรักษาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานซึ่งกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน และผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่ไม่สามารถดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านได้ สามารถโอนสาธารณูปโภคเป็นสาธารณประโยชน์ หรือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจบำรุงรักษาสาธารณูปโภคนั้นได้ 
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
2 มีนาคม 2566
02-03-66-แถลงข่าวเด่น-9-2566_.pdf
 

 

02/03/2566
Related Document Files
Scroll to top