กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 4/2566 กสม. เสนอรัฐบาลเดินหน้าบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายตามกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิและเสรีภาพประชาชน และความเชื่อมั่นในระดับสากล

26/01/2023 52
 
วันที่ 26 มกราคม 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่น ประจำสัปดาห์ครั้งที่ 4/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
                    1. กสม. เสนอรัฐบาลเดินหน้าบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหายตามกำหนด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิและเสรีภาพประชาชน
 
 
                    นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและ การกระทำให้บุคคลสูญหาย และได้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กระทั่งกฎหมายผ่านความเห็นชอบและจะมีผลใช้บังคับ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 นำมาซึ่งความยินดียิ่งของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้มานานกว่า 10 ปี จนเป็นผลสำเร็จ นับแต่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ตั้งแต่ปี 2550 อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้มีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ขยายเวลาการประกาศบังคับใช้กฎหมายออกไปก่อนด้วยเหตุผลหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทักษะในการปฏิบัติ และแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานกลาง ทั้งที่ ผู้แทน สตช. ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 ว่ามีความพร้อมในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากนี้ สตช. ยังได้มีคำสั่งที่ 178/2564 ลงวันที่ 9 เมษายน 2564 เรื่อง การบันทึกภาพและเสียงการตรวจค้น จับกุม และการสอบสวนคดีอาญา โดยกำหนดให้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจและพนักงานสอบสวนในการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนคดีอาญา ซึ่งแนวทางดังกล่าวบังคับใช้มาก่อนที่ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 จะมีผลใช้บังคับ กสม. ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จึงได้จัดเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อ “พ.ร.บ. ซ้อมทรมานและอุ้มหาย เดินหน้าหรือชะลอ ใครได้ ใครเสีย ?” ขึ้น เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้ระดมความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกันว่าไม่มีความจำเป็นต้องเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไป เนื่องจากจะส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศไทยในระดับสากล ที่ไม่สามารถอนุวัติการกฎหมายให้เป็นไปตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ด้วย ซึ่งกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายนี้ นอกจากจะเป็นกฎหมายสำคัญ ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชนแล้ว ยังจะเป็นประโยชน์กับเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อถูกกล่าวหาหรือร้องเรียนเกี่ยวกับการตรวจค้น จับกุม และสอบสวนคดีอาญา ด้วย ทั้งนี้ ระหว่างปี 2558 – 2565 กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกาย จากการซ้อมทรมานและทำร้ายร่างกายระหว่างถูกควบคุมตัว จำนวน 232 เรื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์ดังกล่าวดำรงอยู่มายาวนานและไม่มีแนวโน้มที่จะคลี่คลาย ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนกรณี การบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 เพื่อแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี โดยขอให้ยืนยันการมีผลบังคับใช้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ พ.ศ. 2565 เพื่อให้บรรลุเจตนารมณ์ในการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเห็นควรให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ สตช. และหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายนี้อย่างเหมาะสมต่อไป

                    2. กสม. ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลให้เด็กนักเรียนรหัส G เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน 
 
 
                    ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ  เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะให้แก่กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยปัจจุบันมีกลุ่มเด็กนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติมากกว่าหนึ่งแสนคนที่มีถิ่นกำเนิดและหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับสถานะทางทะเบียนหรือไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ซึ่งเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า เด็กนักเรียนกลุ่ม G
                    การไม่มีสถานะทางทะเบียนหรืออยู่ระหว่างรอการพิสูจน์สถานะส่งผลให้เด็กนักเรียนกลุ่ม G ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนพึงมีได้ โดยเฉพาะสิทธิในการรักษาพยาบาล การศึกษาต่อ การมีงานทำ การเดินทางออกนอกพื้นที่ รวมทั้งสิทธิในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ที่ต้องใช้เลขประจำตัว 13 หลัก เช่น การทำธุรกรรมทางการเงิน การทำใบขับขี่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่หลายหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไข เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ตนได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เพื่อหารือถึงแนวทางและกระบวนการแก้ไขปัญหาให้แก่เด็กนักเรียนกลุ่ม G กว่า 1,000 ราย ของสำนักทะเบียนอำเภอแม่อาย โดยเบื้องต้นทางอำเภอได้เร่งรัดพิจารณาอนุมัติการกำหนดสถานะ และจัดทำเลขบัตรประจำตัว 13 หลัก ให้นักเรียนชุดแรกจำนวน 11 ราย แล้ว โดยจำนวนที่เหลือกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และในวันเดียวกัน ตนยังได้เข้าร่วมโครงการมอบบัตรประจำตัว13 หลักให้กับเด็กนักเรียนกลุ่ม G ที่ได้รับการแก้ไขสถานะในพื้นที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ประจำปี 2565 จำนวนทั้งสิ้น 285 คน จาก 19 โรงเรียนในเขตอำเภอฝาง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเป็นผลสำเร็จจากความร่วมมือของอำเภอฝาง องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนลฯ และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 3 เชียงใหม่ ทั้งนี้ กรมการปกครอง ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนของเด็กนักเรียนกลุ่ม G ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยให้จังหวัดและอำเภอแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขกรณีดังกล่าว เป็นการเฉพาะด้วย นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา กสม. โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อหารือถึงการจัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของนักเรียนในระบบการศึกษาทุกรูปแบบ ซึ่งหมายรวมถึงเด็กนักเรียนกลุ่ม G เพื่อป้องกันเด็กทุกคนหลุดจากระบบการศึกษา ซึ่งต้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยต่อไป ขณะที่ก่อนหน้านี้ กสม. ได้หารือร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมการปกครอง ในการพัฒนาเว็บแอปพลิเคชันเพื่อพิสูจน์สถานะสัญชาติ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการพิสูจน์สถานะมีความคล่องตัว รวดเร็ว และลดอุปสรรคเรื่องอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ สำนักทะเบียนไม่เพียงพอต่อปริมาณงาน ได้มากยิ่งขึ้น
                    “ปัญหาเรื่องสิทธิสถานะของเด็กนักเรียนกลุ่ม G เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือและเชื่อมโยงข้อมูลกันระหว่างหลายหน่วยงาน ทั้งกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ องค์กรภาคประชาสังคม รวมทั้งหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของ กสม. ได้เดินหน้าแก้ไขปัญหาเชิงรุกผ่านกลไกคลินิกสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นการลงพื้นที่เพื่อพบกลุ่มเป้าหมายที่มีปัญหาสถานะบุคคล เพื่อให้คำปรึกษาและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ และดำเนินการแก้ไขปัญหา เชิงนโยบายโดยรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงระบบต่อไปเพื่อให้เด็กนักเรียนกลุ่ม G ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางทับซ้อนคือเป็นทั้งเด็กและเป็นทั้งผู้ไร้สิทธิสถานะได้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ ขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับเด็กในประเทศไทยทุกคน” ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุชาติ กล่าว
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

26 มกราคม 2566
26-01-66-แถลงข่าวเด่น-4-2566_.pdf
 

 

26/01/2566
Related Document Files
Scroll to top