กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 15/2566 กสม. ชงแก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก

20/04/2023 790

กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 15/2566 กสม. ชงแก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็ก เสนอปรับปรุงกฎหมายคดียาเสพติด ให้ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมีสิทธิที่จะได้พบศาลโดยพลัน

วันที่ 20 เมษายน 2566 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ และ นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 15/2566 โดยมีวาระสำคัญดังนี้
                   1. กสม. ชงแก้กฎหมายปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี ป้องกันการแสวงหาประโยชน์และคุ้มครองสิทธิเด็กจากการถูกบังคับแต่งงานก่อนวัยอันควร

ภาพข่าว-1(2).jpg

                   นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีการจัดให้มีการแต่งงานของผู้ใหญ่กับเด็กหญิงชาวมุสลิมอายุต่ำกว่า 15 ปี ในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ นั้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ได้พิจารณาคำร้อง ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ได้รับรองสิทธิเด็กไว้ โดยมีหลักการพื้นฐานว่าการกระทำหรือการดำเนินการทั้งหลายต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก เด็กมีสิทธิในการมีชีวิต การอยู่รอด และ การพัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม รวมถึงสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการให้ความสำคัญกับความคิดเหล่านั้น อันสอดคล้องตามหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ว่าเด็กทุกคนย่อมได้รับการคุ้มครองโดยมาตรการต่าง ๆ ที่จำเป็นจากครอบครัว สังคมและรัฐ เช่นเดียวกับที่ได้รับรองไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
                   แม้รัฐจะให้เสรีภาพแก่บุคคลในการนับถือศาสนาและการจัดตั้งครอบครัว ตามที่รับรองไว้ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 31 และมาตรา 32  และกติกา ICCPR ซึ่งรวมไปถึงการให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมตามหลักศาสนาแก่บุตรตามความเชื่อของตน แต่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดที่บัญญัติโดยกฎหมาย และตามความจำเป็นเพื่อรักษาความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย สุขอนามัย หรือศีลธรรมของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นมูลฐานของบุคคลอื่นเท่านั้น ทั้งนี้ การให้การอบรมเลี้ยงดูเด็กที่อยู่ในความปกครอง แม้จะสามารถอยู่บนพื้นฐานตามธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนด ในกฎหมาย และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กไม่ให้อยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ
                   กสม. เห็นว่า การจัดให้มีการแต่งงานในวัยเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาที่สหประชาชาติ คณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบให้ความห่วงใย เพราะถือเป็นความรุนแรงต่อเด็กอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็กในหลายมิติ เช่น ความเสี่ยงต่อ การหลุดออกจากระบบการศึกษาภาคบังคับ ผลเสียต่อสุขภาพและการอนามัยเจริญพันธุ์จากการที่มีเพศสัมพันธ์ในขณะที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และอาจส่งผลต่ออัตราการเสียชีวิตของเด็กเมื่อคลอดบุตร รวมถึงบุตรที่เกิดมามีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตตั้งแต่วัยเยาว์ อีกทั้งยังอาจมีมิติซ้อนทับกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือทางเศรษฐกิจต่อเด็กได้เช่นกัน
                   เมื่อพิจารณาประกอบกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 5.3 ได้แก่การขจัดแนวปฏิบัติที่เป็นภัยทุกรูปแบบ อาทิ การแต่งงานในเด็กก่อนวัยอันควรและโดยการบังคับ ที่ประเทศไทยร่วมลงนามดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว ตลอดจนข้อสังเกต เชิงสรุปของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ในทุกรูปแบบ สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการแต่งงานในวัยเด็กเป็นหนึ่งในปัญหาที่ทั่วโลกต้องเร่งรัด การดำเนินการเพื่อยุติการปฏิบัติที่ถือเป็นความรุนแรงต่อเด็ก ทั้งมาตรการด้านการบริหารและมาตรการด้าน นิติบัญญัติ เพื่อคุ้มครองไม่ให้เกิดการแต่งงานในวัยเด็กหรือการบังคับแต่งงานทุกกรณี โดยประเทศไทย ได้ให้คำรับรองต่อคณะกรรมการ Universal Periodic Review (UPR) ในกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2559 ว่าประเทศไทยจะดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสเป็น 18 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล แต่พบว่าจนถึงปัจจุบัน กระบวนการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์อายุขั้นต่ำยังไม่ลุล่วงบริบูรณ์ ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ประเทศไทยบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ได้กำหนดอายุขั้นต่ำในการสมรสไว้ที่ 17 ปีบริบูรณ์ ขณะเดียวกัน แนวทางตามประกาศของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงอายุขั้นต่ำในการสมรสให้เป็น 17 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้สอดคล้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็ยังเป็นอายุที่ต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดในอนุสัญญา CRC และมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลที่ไทยเป็นภาคี รวมถึงยังมีช่องทางที่เปิดโอกาสให้มีการใช้ดุลพินิจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติทำการสมรสได้             ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสม. จึงเห็นว่า การที่ประเทศไทยไม่ดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำ ในการสมรสตามข้อท้วงติงในรายงาน UPR หรือข้อสังเกตเชิงสรุปของคณะกรรมการประจำอนุสัญญา CRC และคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิด สิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันหรือแก้ไข ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็กในประเด็นการแต่งงาน ในวัยเด็ก จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ดังนี้

                   (1) ข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน
                   ในระยะเบื้องต้นก่อนการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ให้ดาโต๊ะยุติธรรม โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิด ดำเนินการอนุญาตสมรสตามกระบวนการที่บัญญัติในระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 โดยยึดหลักการคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้ง และป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์ต่อเด็กทั้งในด้านเศรษฐกิจหรือทางเพศ โดยเมื่อมีการสมรสเกิดขึ้น ขอให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรวบรวมสถิติให้แก่กระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นเจ้าภาพดำเนินการเก็บสถิติการแต่งงานในวัยเด็ก โดยประสานงานส่งให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์และประสานการคุ้มครองกรณีพบการแต่งงาน ในวัยเด็กหรือการบังคับแต่งงานในวัยเด็ก
                   นอกจากนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ออกมาตรการดำเนินการตรวจสอบกรณีพบเห็นหรือได้รับการประสานเกี่ยวกับการแต่งงานในวัยเด็กที่อาจเข้าข่ายกรณีความรุนแรงต่อเด็ก เข้าข่ายการแสวงหาประโยชน์ทางเพศหรือทางเศรษฐกิจจากเด็ก และดำเนินการช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่ในบทบัญญัติพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

                   (2) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
                   ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขประชาสัมพันธ์ให้เห็นความสำคัญของการยุติปัญหาการแต่งงานในวัยเด็ก หรือการบังคับแต่งงาน และนำเสนอผลกระทบทางด้านสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนในระดับท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความสำคัญในปัญหาดังกล่าว ตลอดจนประชาสัมพันธ์ช่องทางการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนด้วย นอกจากนี้ ในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิประโยชน์ตามบัญญัติอิสลาม ตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ขอให้พิจารณาแต่งตั้งบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักสิทธิเด็กและสิทธิมนุษยชนเข้าไปในคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยพิจารณาสัดส่วนผลประโยชน์สูงสุดของเด็กและคำขอสมรสในเด็กที่อายุต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

                   (3) ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง
                   ให้คณะรัฐมนตรี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยดำเนินการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึง การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อปรับแก้เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการแต่งงานให้เป็น 18 ปี และดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติตามหลักการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการบังคับแต่งงาน ในวัยเด็กทุกกรณี อาทิ กรณีที่เกิดขึ้นจากความยินยอมโดยสมัครใจของเด็ก กรณีที่เกิดโดยการบังคับด้วยเหตุแห่งเศรษฐกิจ กรณีการบังคับแต่งงานเป็นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเด็กสมัครใจล่วงประเวณี หรือกรณีการบังคับแต่งงานอันเป็นผลมาจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ อันถือเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 9 ความผิดเกี่ยวกับเพศ
                   ทั้งนี้ เมื่อมีการดำเนินการปรับเกณฑ์อายุขั้นต่ำในการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ขอให้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยพิจารณาปรับแก้อายุขั้นต่ำในการสมรสตามระเบียบคณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง ประเทศไทยว่าด้วยการสมรส (นิกาห์) บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 17 ปี พ.ศ. 2561 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย

                   2. กสม. เสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด เพื่อให้สอดคล้องกับหลัก สิทธิมนุษยชน ย้ำผู้ต้องหาต้องมีสิทธิได้พบศาลโดยพลัน

 

ภาพข่าว-2.jpg

 

                   นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการตำรวจปราบปรามยาเสพติด 1 (ผู้ถูกร้อง) ทำร้ายร่างกายผู้ร้องขณะจับกุมในคดียาเสพติด และใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ควบคุมตัวผู้ร้องไว้เพื่อสืบสวนสอบสวนขยายผลเป็นเวลาไม่เกินสามวัน แล้วจึงส่งให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดำเนินการต่อไป ซึ่ง กสม. เห็นว่า แม้ในการตรวจสอบจะไม่ปรากฏพยานหรือหลักฐานที่ชี้ว่าผู้ถูกร้องทำร้ายร่างกายผู้ร้อง แต่เมื่ออาการบาดเจ็บเกิดขึ้นก่อนถูกควบคุมตัวที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง ประกอบกับ จากการชี้แจงไม่ปรากฏว่า ผู้ร้องมีพฤติการณ์ขัดขืนหรือหลบหนีการจับกุม จึงน่าเชื่อว่า ผู้ร้องได้รับบาดเจ็บจากการควบคุมตัวของผู้ถูกร้อง ซึ่งเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เกินสมควรแก่กรณี อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น จึงมีมติให้จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายกรณีการควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน
                   กสม. โดยสำนักกฎหมาย ได้ศึกษาข้อเท็จจริง บทบัญญัติของกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน งานวิจัย ตลอดจนความเห็นของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการแล้ว เห็นว่า สิทธิที่ผู้ต้องหาในคดีอาญาจะต้องได้พบศาลโดยพลันเป็นสิทธิมนุษยชนสำคัญที่ถูกกำหนดไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 วรรคสาม ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวในข้อหาทางอาญา ต้องถูกนำตัวไปพบศาลโดยพลัน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่มิชอบต่อผู้ถูกจับกุม และให้ศาลสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการควบคุมตัวผู้ต้องหา อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจจับกุมอาจมีข้อสงสัยหรือปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ในประเด็นที่ว่า “โดยพลัน” ว่าหมายถึงระยะเวลาใด เนื่องจากอาจมีขั้นตอนในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรเพื่อเดินทางไปศาล ดังนั้น คณะกรรมการประจำกติกา ICCPR จึงตีความคำว่า “โดยพลัน” อย่างประนีประนอมว่าหมายถึง ต้องนำตัวผู้ถูกจับไปพบศาลภายใน 48 ชั่วโมงนับจากเวลาที่ถูกจับกุม และหากเป็นกรณีที่ผู้ถูกจับเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี คณะกรรมการสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child) ได้ให้ความเห็นว่า ต้องนำตัวเด็กไปพบศาลภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงนับแต่จับกุมเช่นเดียวกัน
                   ดังนั้นในกฎหมายอาญาบางประเทศจึงกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหา ในคดีอาญาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุม จากนั้นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปพบศาล ในขณะที่มีกฎหมายอีกหลายประเทศกำหนดให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่มีการจับกุม จากนั้นต้องนำตัวผู้ต้องหาไปพบศาล ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายของประเทศไทยให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล หากผู้ถูกจับกุมเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ให้อำนาจพนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง นับแต่ส่งตัวให้พนักงานสอบสวน จากนั้นต้องนำผู้ต้องหาไปพบศาล จะเห็นได้ว่ากฎหมายไทยกำหนดให้การนำตัวผู้ถูกจับกุมไปพบศาลนับระยะเวลาเริ่มตั้งแต่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน (สถานีตำรวจ) โดยไม่ได้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมตามหลักสากล
                   สำหรับกรณีพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่ให้อำนาจกรรมการ เลขาธิการ รองเลขาธิการ และเจ้าพนักงาน ป.ป.ส. ที่ได้รับการแต่งตั้ง มีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมที่กระทำความผิดคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดี ได้แก่ ผลิต ครอบครอง และจำหน่าย เป็นต้น ไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ทำให้การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดดังกล่าวสามารถควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 5 วัน โดยผู้ต้องหาไม่ได้พบศาล ไม่มีการตรวจสอบโดยองค์กรอื่นหรือศาล ซึ่งขัดกับกติกา ICCPR อย่างชัดเจน จึงกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหาอันอาจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาพบว่ามีกฎหมายในหลายประเทศที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดร้ายแรงไว้เพื่อ การสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมได้หากมีเหตุจำเป็น โดยกฎหมายของประเทศเหล่านั้นบัญญัติให้ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกอื่นเสียก่อน เช่น องค์กรอัยการ หรือศาล 
                   ดังนั้น การที่พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ให้อำนาจกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ส. ควบคุมตัวผู้ถูกจับกุมที่กระทำความผิดคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดี ได้แก่ ผลิต ครอบครอง และจำหน่าย เป็นต้น ไว้เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนขยายผลได้เป็นเวลาไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อสอบสวนต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ทำให้การจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติดสามารถควบคุมตัวได้สูงสุดถึง 5 วัน โดยผู้ต้องหานั้นไม่ได้รับสิทธิที่จะได้พบศาลโดยพลัน เห็นว่า อำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดเป็นระยะเวลาไม่เกิน 3 วัน ใช้ในกรณีเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนเป็นสำคัญ ซึ่งการให้อำนาจดังกล่าวไม่ควรทำลายสิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้พบศาลโดยพลันภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง ดังนั้น จึงต้องแยก “ความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาควบคุมตัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติด” และ “สิทธิของผู้ต้องหาที่จะต้องได้พบศาลภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมง” ออกจากกัน โดยต้องเน้นให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิที่จะพบศาลโดยพลันภายในระยะเวลา 48 ชั่วโมงก่อนเป็นลำดับแรก ดังนั้น กสม.
จึงเห็นควรให้ยกเลิกอำนาจตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง และให้ไปใช้วิธีการในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเป็นหลักเช่นเดียวกับคดีอาญาอื่น ซึ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติดหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ผู้จับกุมร้องขอต่อศาล เพื่อให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งว่ามีความจำเป็นเพียงใด
                   ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายกระทรวงยุติธรรม โดยคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ดำเนินการ สรุปได้ ดังนี้

                   (1) ยกเลิกอำนาจการควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 3 วัน ในคดียาเสพติดเพื่อสอบสวนตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยให้ กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 ยกเลิกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ. 2550 มาตรา 11/6 วรรคหนึ่ง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยให้ใช้วิธีสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งนี้หากมีความจำเป็นที่จะต้องสอบสวนขยายผลในคดียาเสพติดที่มีความร้ายแรงแห่งคดีหรือมีเหตุจำเป็นอื่นที่ต้องขยายระยะเวลาการควบคุมตัว ให้ผู้จับกุมหรือควบคุมตัวร้องขอต่อศาลเพื่อพิจารณาเหตุผลและความจำเป็น

                   (2) แก้ไขการเริ่มนับระยะเวลาการนำตัวผู้ถูกจับกุมในคดีอาญาไปพบศาลโดยพลัน เพื่อคุ้มครองสิทธิที่ผู้ถูกจับกุมจะได้พบศาลโดยพลัน โดยดำเนินการดังนี้ ประการแรกให้แก้ไขประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม โดย กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้รักษาการ ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 วรรคสาม เป็น “ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวนหรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้นั้นถูกจับ ...” และประการที่สอง ให้แก้ไขพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 72 วรรคหนึ่ง โดย กพยช. กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับประธานศาลฎีกา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด ในฐานะผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 แก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าว ในมาตรา 72 วรรคหนึ่ง เป็น “ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนซึ่งถูกจับ ให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันทีภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับ” และให้ตัดข้อยกเว้นเรื่องการไม่นับระยะเวลาเดินทางในการนำตัวเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับมาศาลรวมในกำหนดเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงออกไปด้วย
สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
20 เมษายน 2566

20-4-66-แถลงข่าวครั้งที่-15-2566.pdf

Scroll to top