โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง มีสภาพบังคับกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การทำหน้าที่ดังกล่าวสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเป็นการสมควรกำหนดให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจในการเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายแทนอำนาจในการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษแทนผู้เสียหายในคดีอาญา เพื่อให้การดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คลอบคลุมไปถึงการดำเนินคดีในศาล ในเรื่องที่กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และศาลยุติธรรม อันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้อย่างรอบด้านและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๐
ในการนี้ เพื่อให้การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ เป็นไปตามมาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่กำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
ผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย https://www.law.go.th/ ได้ตั้งแต่วันที่ ๕ - ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๗
เอกสารที่เกี่ยวข้อง |
---|
๑. ประกาศสำนักงาน กสม. เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (Download PDF) |
๒. ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (Download PDF) |