สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 ม. สงขลานครินทร์

31/01/2568 209

          เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2568 เวลา 13.30 น. ที่ห้อง 203 ชั้น 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายสุเรนทร์  ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ (สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้ ร่วมเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในหัวข้อ หลักการสิทธิมนุษยชนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ให้แก่นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวน 30 คน เพื่อให้นักศึกษา รายวิชา 870 - 355 สิทธิมนุษยชน ได้มีความรู้ ความเข้าใจบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และประสบการณ์ในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคใต้ และสามารถนำความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้รับไปพัฒนา ประยุกต์ใช้กับหลักกฎหมาย การดำรงชีวิตประจำวันในสังคม ชุมชน ในการปกป้องสิทธิของตนเอง ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และเผยแพร่หลักการสิทธิมนุษยชนให้กับชุมชน เพื่อเสริมสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อไป

          สำหรับการอบรมดังกล่าว เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้บรรยายให้ความรู้ถึงความหมายและหลักการพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน หลักการปารีส บทบาท หน้าที่และอำนาจของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และบทบาท หน้าที่ของสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ในการส่งเสริมให้ประชาชนและทุกภาคส่วนตระหนักในสิทธิมนุษยชนและเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ผลการดำเนินงานในการขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้กรอบความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับสถาบันทางวิชาการ 5 แห่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และแผนการปฏิบัติงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

          ในการนี้เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ประชาสัมพันธ์เชิญชวนนักศึกษาติดตามข้อมูลข่าวสาร ผลการดำเนินงานของ กสม. และสำนักงาน กสม. ภาคใต้ พร้อมทั้งเชิญชวนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ผ่านช่องทาง Facebook ทั้งนี้ สามารถแจ้งเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในช่องทางต่าง ๆ เช่น ร้องเรียนเป็นหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคใต้ ร้องเรียนทางเว็บไซต์ หรือทางโทรศัพท์สายด่วน 1377

เลื่อนขึ้นด้านบน