หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน และเพื่อเป็นการประกันความมั่นคงและสันติภาพของโลกและมวลมนุษยชาติ กฎบัตรสหประชาชาติจึงมีข้อบทหรือมาตราที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนอย่างชัดเจนอยู่หลายข้อ รวมทั้งการจัดตั้งกลไกต่างๆ เพื่อดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน โดยกลไกเหล่านี้ได้มีการพัฒนามาโดยตลอด และได้รับรองกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับด้านสิทธิมนุษยชนในรูปแบบต่างๆ อาทิ กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญา รวมทั้ง แนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งรัฐสมาชิกมีพันธกรณีตามกฎหมาย และ/หรือทางจริยธรรมที่จะต้องปฏิบัติตาม ดังนั้น องค์การสหประชาชาติจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนากฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แนวทางปฏิบัติและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
โดยที่มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไว้ประการหนึ่งคือ การส่งเสริมการเคารพและการปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ การตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงได้จัดทำเอกสารชุด "แนวทางปฏิบัติและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" ขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบถึงมาตรฐานต่างๆ ด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยสากล เพื่อนำมาสร้างเสริมให้เกิดการเคารพ คุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในประเทศไทยต่อไป
-
-
- สิทธิเกี่ยวกับน้ำ
- ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
- กลไกสิทธิมนุษยชนในระบบสหประชาชาติ
- ท่านต้องทำอย่างไร…หากมีหน้าที่ในการใช้กำลังและอาวุธปืน
- สิทธิของผู้ป่วยทางจิต
- สิทธิในการพัฒนา
- การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลในคอมพิวเตอร์
-
สิทธิเกี่ยวกับน้ำ
คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ได้ให้คำวินิจฉัยซึ่งถือเป็นการตีความบทบัญญัติที่สำคัญในการปฏิบัติตามพันธกรณีของรัฐภาคี เรื่องสิทธิเกี่ยวกับน้ำ ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยลำดับที่ 15 คำวินิจฉัยดังกล่าวมีสาระสำคัญ อธิบายถึงพันธกรณีของรัฐในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนในประเทศที่เกี่ยวกับน้ำ เพราะน้ำถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ และจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ให้มีระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่พอเพียง และอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี และเกี่ยวพันกับการได้รับสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ พันธกรณีของรัฐภาคีในขั้นต่างๆ ได้แก่ การประกันว่ามีการกระจายหรือเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่สะอาดให้ประชาชนได้รับอย่างพอเพียงและเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพื่อการบริโภค อุปโภค และประโยชน์ทำกิน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนี้ ประชาชนผู้ด้อยโอกาสควรได้มีส่วนในการจัดการน้ำ รัฐไม่ควรละเมิดสิทธิดังกล่าวโดยการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่จะเป็นการกีดกั้น หรือจำกัดสิทธิในการเข้าถึงน้ำ หรือเข้าไปแทรกแซงการจัดสรรน้ำที่เป็นวิถีหรือธรรมเนียมดั้งเดิมโดยพลการ ในขณะเดียวกัน รัฐยังมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มใด ซึ่งหมายรวมถึงบริษัทต่างๆ ละเมิดสิทธิดังกล่าวของประชาชน และรัฐควรดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมสิทธิในน้ำของประชาชนให้เป็นจริงด้วย
ผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรองข้อมติที่ 53/144 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 ให้ความเห็นชอบกับสาระของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรของสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างสากล หรือที่รู้จักในนาม "ปฏิญญาว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน" สาระสำคัญของปฏิญญาฯ เป็นการให้คำจำกัดความของผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน (human rights defenders) ว่าหมายถึงบุคคล กลุ่มบุคคล และองค์กรอื่นๆ ของสังคมใดก็ตาม ที่ปฏิบัติหน้าที่ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม พลเมือง และการเมือง รวมถึงสิทธิในการดำเนินการต่างๆ เช่น การชุมนุมโดยสันติ การเข้าร่วมในองค์กรหรือสมาคม รวมทั้งการติดต่อกับองค์การต่างประเทศ เพื่อดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนกับฝ่ายต่างๆ ความรับผิดชอบของรัฐในการดำเนินมาตรการตามที่กำหนดไว้ในปฏิญญาฯ การเยียวยาเมื่อถูกละเมิดเป็นต้น
กลไกสิทธิมนุษยชนในระบบสหประชาชาติ
องค์การสหประชาชาติเป็นต้นกำเนิดสำคัญในการกำหนดมาตรฐานสากลและได้จัดตั้งกลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหลายรูปแบบ ซึ่งมีผลผูกพันต่อประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทย หลักการหรือแนวคิดสิทธิมนุษยชนมีบทบาทต่อองค์การสหประชาชาตินับตั้งแต่การก่อตั้งองค์การ โดยปรากฏอยู่ในมาตราต่างๆ ของกฎบัตรสหประชาชาติ หลังจากนั้น ได้มีการร่างปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และตราสารหลักด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ของสหประชาชาติ กลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติที่จัดตั้งขึ้นทั้งโดยกฎบัตรสหประชาชาติ ตราสารต่างๆ และกลไกอื่นๆ ของสหประชาติ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อกำหนดมาตรฐานสากล ตลอดจนการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชนที่กำหนดไว้ ซึ่งแต่ละกลไกต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนที่แตกต่างกันไป ในขณะเดียวกัน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์การเอกชนได้มีบทบาทที่ทวีความสำคัญในการดำเนินงานของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน นอกเหนือจากกลไกที่จัดตั้งขึ้นในระบบสหประชาชาติ
ท่านต้องทำอย่างไร…หากมีหน้าที่ในการใช้กำลังและอาวุธปืน
การใช้กำลังและอาวุธปืนของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเป็นเรื่องที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างมาก ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ ว่าทำอย่างไร จึงจะให้เกิดการตัดสินใจที่เหมาะสมเมื่อต้องใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ โดยต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่และไม่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การใช้กำลังและอาวุธปืนประเภทต่างๆ จะต้องเป็นไปตามความเหมาะสม ไม่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ด้วยเหตุดังกล่าว การประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด ครั้งที่ 8 ณ กรุงฮาวานา ประเทศคิวบา เมื่อ ค.ศ. 1990 จึงได้รับรองหลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานที่พึงปฏิบัติดังกล่าว รวมถึงการป้องกันอย่างเป็นระบบ เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ ระเบียบในการเก็บและเบิกอาวุธปืน การรายงานเมื่อมีการใช้อาวุธปืน เป็นต้น และสหประชาชาติได้ถือเป็นมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง
สิทธิของผู้ป่วยทางจิต
สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรอง "หลักการว่าด้วยการคุ้มครองผู้ป่วยทางจิตและการปรับปรุงการดูแลสุขภาพจิต" เมื่อ พ.ศ. 2534 ซึ่งกล่าวถึงการดูแลรักษาผู้ป่วยทางจิตในมุมมองของการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้กล่าวถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน รวมถึงระบบและแนวปฏิบัติที่สถาบันและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วยทางจิตควรคำนึงถึง เพื่อให้มั่นใจว่าการดูแลรักษาเป็นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยเฉพาะมาตรา 30 ก็ได้กล่าวถึงความเสมอภาคของบุคคลตามกฎหมายและการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องต่างๆ อันรวมถึงสภาพทางกายหรือสุขภาพ และมาตรา 52 ยังได้บัญญัติเกี่ยวกับสิทธิที่เสมอกันของบุคคลในการรับบริการทางสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน
สิทธิในการพัฒนา
สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รับรอง "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิในการพัฒนา" เมื่อ พ.ศ. 2529 โดยมีสาระสำคัญคือ การพัฒนามีความสัมพันธ์กับการเคารพสิทธิมนุษยชนที่จะต้องให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ให้การสนับสนุน และได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเป็นธรรม เพื่อมุ่งให้การพัฒนาส่งผลต่อความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืน เกิดการพัฒนาศักยภาพและทางเลือกให้กับบุคคลทุกคน ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ก็ได้กำหนดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่เคารพต่อสิทธิของประชาชนและมีความเป็นธรรมไว้ในหลายมาตรา
การเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลในคอมพิวเตอร์
สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้รับรอง "แนวทางเพื่อควบคุมแฟ้มข้อมูลส่วนบุคคลในระบบคอมพิวเตอร์" เมื่อ พ.ศ. 2533 โดยกล่าวถึงการเคารพสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนตัว เมื่อมีการรวบรวมจัดเก็บฐานข้อมูลโดยองค์กรหนึ่งใด ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 5 ข้อ ได้แก่ หลักการว่าด้วยการเป็นไปตามกฎหมายและความเป็นธรรม หลักการแห่งความถูกต้องแม่นยำ หลักการว่าด้วยความจำเพาะของจุดประสงค์ หลักการว่าด้วยการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลที่มีส่วนได้เสีย และหลักการว่าด้วยการไม่เลือกปฏิบัติ