สำนักงาน กสม. ออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกินและการพัฒนาสถานะของที่ดิน

11/02/2568 94

          เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568 นายไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยนางสาววันรุ่ง  แสนแก้ว ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสม. ลงพื้นที่จัดกิจกรรมคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ ครั้งที่ 5 โดยมีการอภิปรายเรื่อง สิทธิในที่ดินกับการพัฒนาสถานะของที่ดินในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ในการนี้ที่ปรึกษา กสม. ได้ร่วมให้ความรู้ในประเด็นเกี่ยวกับที่ดิน โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 80 คน ณ วัดป่าสวนอัมพร ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

          ในการกิจกรรมดังกล่าว ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กล่าวถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวคือ การตรวจสอบ ส่งเสริม และเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งไปที่ประเด็นด้านสิทธิในที่ดินซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความมั่นคงในชีวิตทั้งทางด้านที่อยู่อาศัย อาหาร ทุนทรัพย์ และเศรษฐกิจ

          นางอำไพ อินทยุง ผู้แทนชาวบ้าน เล่าถึงสภาพปัญหาความเป็นมาของพื้นที่ซึ่งชาวบ้านได้ครอบครองที่ดินในพื้นที่ตำบลเขาคอกมาถึง 3 ชั่วอายุคนแล้ว ราวปี พ.ศ 2490 แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน ส่วนหนึ่งเกิดจากการไม่ทราบขั้นตอนวิธีการในการดำเนินการเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์และข้อจำกัดของพื้นที่

          นายสมบูรณ์ สิงกิ่ง ผู้แทนภาคประชาสังคม กล่าวถึงประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาที่ดินในที่พื้นที่อื่นโดยเฉพาะประเด็นการนำ ส.ค.1 ไปขอออกโฉนดที่ดินหลังปี 2553 เป็นต้นมา ต้องให้ศาลสั่งเสียก่อนจึงจะสามารถดำเนินการออกโฉนดที่ดินได้ นอกจากนี้ยังเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินสำหรับพื้นที่ตำบลเขาคอก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ 3 ข้อได้แก่ 1) ควรตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินระดับตำบล 2) จำแนกจัดทำข้อมูลสภาพข้อเท็จจริงของที่ดินแต่ละแปลงให้ชัดเจน และ 3) บูรณาการแก้ไขปัญหาร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

          นางวรพิชชา  นาควัชระ ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ชี้แจงแนวทางการขอออกโฉนดที่ดินและข้อจำกัดของที่ดินที่ไม่สามารถออกโฉนดได้ เช่น น.ส.3 ที่อยู่ในเขตป่าสงวนไปขอออกโฉนดที่ดินซึ่งไม่สามารถกระทำได้เป็นต้น

          นายประเสริฐ  กาญจนเกียรติกุล ผู้แทนสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ชี้แจงข้อแตกต่างระหว่างโฉนดที่ดิน กับโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งการเปลี่ยนที่ ส.ป.ก. เป็นที่เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร แม้ผู้เป็นเจ้าของจะยังไม่ได้กรรมสิทธิ์เด็ดขาดเช่นเดียวกับโฉนดที่ดินก็ตาม แต่ทำให้ได้สิทธิดีกว่าที่ดิน ส.ป.ก. โดยสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคาร ธ.ก.ส. รวมถึงนโยบายส่งเสริมเกษตรกรทั้งทางด้านที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดิน ส.ป.ก. เช่น การซ่อมแซมบ้าน ฯลฯ

          ในตอนท้ายของกิจกรรมดังกล่าวได้มีการซักถามปัญหาจากชาวบ้านในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเพิกถอนป่าชุมชน การให้สัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ป่า เป็นต้น

เลื่อนขึ้นด้านบน