สำนักงาน กสม. ออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลกลุ่มลาวอพยพ ในพื้นที่ จ. อุบลราชธานี

11/02/2568 108

          เมื่อวันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2568 ที่อารยารีสอร์ต โขงเจียม ริเวอร์ไซต์ อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานีนางสาวมณีรัตน์  มิตรปราสาท ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) จากส่วนกลางและสำนักงาน กสม.พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ ครั้งที่ 6 (ภายใต้โครงการคลินิกสิทธิมนุษยชน) เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลกลุ่มลาวอพยพ ในการออกหน่วยฯ ดังกล่าว ในการนี้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหา การรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามลักษณะปัญหาคนลาวอพยพ ซึ่งจำแนกเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่

          1) กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรหมายเลข 6 รหัส 58 ลาวอพยพ)

          2) กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ประเภท 0 กลุ่ม 89)

          3) กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ประเภท 0 กลุ่ม 00)

          4) กลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตาม (2) และ (3) ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์สิทธิ

          5) กลุ่มบุคคลที่เกิดในประเทศไทยตามหลักดินแดน แต่ยังไม่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติ

          6) กลุ่มบุคคลตกสำรวจ ไม่มีเอกสารในการยืนยันตัวตน

          7) กลุ่มนักเรียนรหัส G

          นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลทั้งในระดับพื้นที่และระดับนโยบาย จากผู้แทนภาคประชาสังคมและภาคประชาชนทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ ประกอบด้วยผู้แทนมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน ผู้แทนเครือข่ายฮักน้ำของ ผู้แทนเครือข่ายกลุ่มเสี่ยวสิรินธร ผู้แทนเครือข่ายการแก้ไขปัญหาคืนสัญชาติคนไทยจังหวัดพังงา จังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้แทนเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่นจังหวัดตราด และผู้แทนมูลนิธิพัฒนานานาเผ่าไร้พรมแดน

          การออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านและเพิ่มศักยภาพการทำงานให้แก่เครือข่ายในการแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคลโดยเฉพาะกลุ่มคนลาวอพยพในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยแกนนำและชาวบ้านที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงสิทธิและสถานะบุคคลจากอำเภอต่างๆ ได้แก่ โขงเจียม เขมราฐ บุณฑริก นาตาล พิบูลมังสาหาร สิรินธร วารินชำราบ และโพธิไทร จำนวนทั้งสิ้น 135 คน

          ทั้งนี้ สำนักงาน กสม. จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ครั้งนี้ ไปประมวลและเสนอต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเด็นสิทธิและสถานะบุคคลต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน