สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมจัดงานวันสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป

18/02/2568 84

          เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) โดย สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (ThaiTGA) กลุ่มกิจกรรม Law Long Beach สโมสรนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ จัดงานวันสิทธิมนุษยชน ประจำปีการศึกษา 2567 ภายใต้แนวคิด “Business and Human Rights for SDGs” โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป จำนวน 100 คน ณ ลานหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

          ในงานวันสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในหลักสิทธิมนุษยชนให้แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป และเป็นเวทีนำเสนอข้อมูล และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นทางวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย โดยในปีนี้มุ่งเน้นประเด็นสำคัญด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Business and Human Rights for SDGs) ทั้งนี้ ภายในงานประกอบด้วย

          ช่วงเช้า เป็นกิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “2 ปีหลังกฎหมายต่อต้านการทรมาน: ความหวังและความท้าทายในจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยมีนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรการเสวนา พร้อมด้วยวิทยากรจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กลุ่มด้วยใจ เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ (JASAD) มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม (MAC) องค์กรเครือข่ายสิทธิมนุษยชนปาตานี (HAP)

          ช่วงบ่าย เป็นกิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “อิสรภาพทางเศรษฐกิจ: โอกาส ความเท่าเทียม และความท้าทายของคนพิการ” โดยมี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากรการเสวนา พร้อมด้วยวิทยากรจาก  มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 11 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

          ช่วงค่ำ เป็นกิจกรรมการแข่งขันพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (Ted Talk) ของผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย จำนวน 5 คน ในหัวข้อ “Transforming BHR commitments into Changes through Youth Engagement” โดยมีนางรัตติกุล  จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมเป็นกรรมการตัดสิน ผ่านระบบ Zoom meeting พร้อมด้วย นายสุเรนทร์  ปะดุกา ผู้อำนวยการสำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เสาวณีย์  แก้วจุลกาญจน์ นักวิชาการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จอมขวัญ  สุทธินนท์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนางจุฑารัตน์  ไลวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปัตตานี โดยมีผลการแข่งขันดังนี้

          รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวอันดามัน  ธารากิจ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยรามคำแหง

          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายโรสลัน  สันเกาะ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวพรไพลิน  หลีกา คณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยทักษิณ

          รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 ได้แก่ นายธนากร  พุทธศรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และนางสาวธิดารัตน์  พูลสวัสดิ์ คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

          รางวัล Popular Vote ได้แก่ นางสาวธิดารัตน์  พูลสวัสดิ์ คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่

          ในการนี้ สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคใต้ ได้ร่วมจัดนิทรรศการส่งเสริมความรู้ความเข้าใจบทบาทหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชน และจัดคลินิกสิทธิมนุษยชนรับเรื่องร้องเรียนให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมและเยี่ยมชมนิทรรศการ

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนงานตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (MOU) กับ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อร่วมดำเนินกิจกรรมในด้านการบริการวิชาการ เผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจและรณรงค์เกี่ยวกับนโยบายด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เสริมสร้างและพัฒนากระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับบริบทวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในพื้นที่และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการปกป้องสิทธิของตนเองและสังคมให้เกิดความสงบสุขอย่างยั่งยืนตลอดไป

เลื่อนขึ้นด้านบน