กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 12/2568 กสม. แนะทบทวน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ คุ้มครองเด็กและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจากขบวนการค้ามนุษย์ - ติดตามการแก้ไขปัญหาสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน เผยผลการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4

27/03/2568 141

                วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ นายภาณุวัฒน์  ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 12/2568 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

            1. กสม. แนะทบทวน พ.ร.บ. คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ เพิ่มความคุ้มครองแก่เด็กและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนจากขบวนการค้ามนุษย์

            นายภาณุวัฒน์  ทองสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบเบาะแสว่า มีขบวนการลักลอบจัดหาหญิงชาวไทยเพื่อรับตั้งครรภ์แทนหรืออุ้มบุญให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศ โดยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้เข้าตรวจค้นสถานพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมถึงจับกุมตัวนายเอ (นามสมมติ) ในข้อหามีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า การรับตั้งครรภ์แทน การจับกุม และการดำเนินคดีกับบุคคลฐานความผิดข้างต้นอาจมีประเด็นที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีมติหยิบยกเพื่อตรวจสอบ

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 รับรองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับและการคุมขังบุคคลจะกระทำมิได้ และรับรองเสรีภาพในเคหสถาน การค้นเคหสถานหรือที่รโหฐานจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาล และบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจะกระทำมิได้ สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่บัญญัติว่าการกระทำทั้งปวงเกี่ยวกับเด็กต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นอันดับแรก

            จากการตรวจสอบเห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณา 2 ประเด็น ประเด็นแรก การตรวจค้น จับกุม และดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เห็นว่า พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อออกหมายค้นสถานพยาบาลที่อาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับขบวนการลักลอบจัดหาหญิงไทยเพื่อรับตั้งครรภ์แทนให้กับผู้ว่าจ้างชาวต่างประเทศ โดยศาลอาญาได้ออกหมายค้นตามคำร้อง และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ทำการตรวจค้นสถานพยาบาล รวมทั้งได้รายงานผลการปฏิบัติตามหมายค้นต่อศาลอาญาตามกฎหมาย ส่วนการจับกุมและตรวจค้นบ้านของนายเอ (นามสมมติ) พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามหมายหรือคำสั่งของศาล มีการแสดงหมายจับและหมายค้น รวมทั้งแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาตามกฎหมายเช่นกัน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับอันตรายหรือมีทรัพย์สินเสียหาย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้กระทำได้ ประเด็นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ประเด็นที่สอง กรณีดังกล่าว มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ และหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนหรือไม่ เห็นว่า เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ คือ เพื่อกำหนดสถานะความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ให้เหมาะสม ตลอดจนควบคุมการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์เกี่ยวกับตัวอ่อนและเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์มิให้มีการนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง โดยเมื่อสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งภริยาไม่อาจตั้งครรภ์ได้แล้วประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนตามวิธีการที่กำหนดไว้
ในพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ดำเนินการตั้งครรภ์แทน ดังนั้น เด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ที่ถูกต้องตามกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติไว้ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของสามีและภริยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน

            สำหรับเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ซึ่งกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กคทพ. กรมกิจการเด็กและเยาวชนมีหน้าที่และอำนาจในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กผู้นั้นเช่นเดียวกับเด็กที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งหากไม่ปรากฏผู้ที่พร้อมรับเด็กไปเลี้ยงดู เด็กจะเข้าสู่กระบวนการการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต่อไป ทั้งนี้ กสม. เห็นว่าหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจในการให้ความคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน และบิดามารดาที่ประสงค์จะมีบุตรโดยให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งได้มีความพยายามที่จะป้องกันขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย ประเด็นนี้จึงยังไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า กลไกและการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ มิได้ช่วยป้องกันและปราบปรามขบวนการลักลอบรับตั้งครรภ์แทนให้หมดไป เนื่องจากในความเป็นจริง การหาหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนที่มีความสัมพันธ์กันทางสายโลหิตกับบิดาหรือมารดาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนไม่ใช่เรื่องง่าย ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากถ้อยคำของผู้ต้องหาหญิงซึ่งเป็นหญิงรับตั้งครรภ์แทน พบว่า หญิงเหล่านี้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการจัดหาหญิงรับตั้งครรภ์แทนผ่านกลุ่มอุ้มบุญในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งมีการโฆษณาและชักชวนหาหญิงชาวไทยให้รับตั้งครรภ์แทนโดยทำให้หลงเชื่อว่าการรับตั้งครรภ์แทนเป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการรักษาภาวะมีบุตรยากเช่นเดียวกับ
การฉีดเชื้อเข้าโพรงมดลูกหรือการทำเด็กหลอดแก้วและสามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนมักเป็นกลุ่มเปราะบางที่ฐานะยากจน ขาดอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจและอาจไม่มีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว และแม้เจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ จะมุ่งคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยวิธีนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริง และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป พบว่า กฎหมายดังกล่าวมีช่องว่างในการบังคับใช้จากการจำกัดคุณสมบัติของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนและการที่ร่างกายต้องรับความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์แทนจึงส่งผลให้เกิดขบวนการหาหญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย ประกอบกับหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายนี้ ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการกระทำความผิดดังกล่าวได้โดยตรง และไม่ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมายที่อาจเป็นเหยื่อจากขบวนการดังกล่าว รวมถึงยังไม่ได้กำหนดมาตรการรองรับหากหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมายเกิดอันตรายหรือภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ นอกจากนี้ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดของพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการทบทวนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 จึงเห็นควรเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อกระทรวงสาธารณสุข ให้หารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาทบทวนและแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยคำนึงถึงสุขภาวะของเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ความซับซ้อนของขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย การป้องกันและการเฝ้าระวังการค้ามนุษย์ การกำหนดให้มีพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย และการให้ความคุ้มครองเด็กและหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนที่อาจเป็นเหยื่อจากขบวนการรับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมาย

            นอกจากนี้ ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมกิจการเด็กและเยาวชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการรับตั้งครรภ์แทน และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พิจารณาตรวจสอบและดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาหาหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในช่องทางออนไลน์ รวมทั้งให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเฝ้าระวังและสอดส่องโฆษณาที่เกี่ยวกับการหาหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนผิดกฎหมายผ่านทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ พร้อมทั้งแจ้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหากพบโฆษณาดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

 

            2. กสม. ติดตามการแก้ไขปัญหาสถานสงเคราะห์เด็กเอกชน เผยผลการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรายงานผลการตรวจสอบ ที่ 42/2566 ลงวันที่ 18 เมษายน 2566 เรื่อง สิทธิเด็กอันเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขปัญหาสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หลังได้รับเรื่องร้องเรียนในขณะนั้นว่ามีสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนมากกว่า 18 แห่งในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีที่เปิดดำเนินการโดยไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย และยังปรากฏสถานการณ์การกระทำทารุณกรรมเด็กหลายกรณี ภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริง กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ได้มีข้อเสนอแนะเชิงระบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้จดแจ้งสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย พร้อมทั้งสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลจำนวนเด็กและจำนวนสถานรองรับเด็กทั่วประเทศ จัดให้มีกลไกคัดกรองเด็กที่มีประสิทธิภาพ กำกับดูแลมาตรฐานสถานสงเคราะห์ พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเด็กและการดูแลเด็กแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมบริการเลี้ยงดูทดแทนในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ครอบครัวอุปถัมภ์ ครอบครัวเครือญาติอุปถัมภ์ ตลอดจนให้มีการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการสถานสงเคราะห์ เพื่อให้เด็กทุกคนในสถานสงเคราะห์ได้รับการเลี้ยงดูที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมแบบครอบครัวมากที่สุด ตลอดจนประกันว่าเด็กต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรง การถูกละเมิดสิทธิ การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ทุกรูปแบบ โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ

            หลังจากมีข้อเสนอแนะข้างต้น กสม. ได้ติดตามผลดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. และดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ประเทศไทย หน่วยงานฝ่ายปกครองในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีและผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยได้ทราบว่าภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันดำเนินงานผ่านกลไกคณะทำงานคุ้มครองเด็กอำเภอสังขละบุรี ซึ่งมีการจัดทำโครงการ “แก้ไขปัญหาสถานรองรับเอกชนในอำเภอสังขละบุรี” โดยส่งเสริมให้เด็กที่เสี่ยงไม่ได้อยู่กับครอบครัวได้รับการดูแลที่เหมาะสมและขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ จัดให้มีกลไกคัดกรองเด็กก่อนส่งเข้าสู่สถานสงเคราะห์ด้วยขั้นตอนและกระบวนการทางสังคมสงเคราะห์โดยสหวิชาชีพ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ กสม.

            ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา กสม. โดยนางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช และนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีเพื่อประชุมหารือร่วมกับผู้แทนจาก ดย. สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดกาญจนบุรี ฝ่ายปกครองอำเภอสังขละบุรีและอำเภอทองผาภูมิ คณะทำงานคุ้มครองเด็กอำเภอสังขละบุรี UNICEF และมูลนิธิวันสกาย เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันและติดตามการแก้ไขปัญหาสถานสงเคราะห์เด็กเอกชนที่ไม่จดทะเบียนตามกฎหมาย และหารือถึงแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และองค์การระหว่างประเทศ รวมถึงการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการดูแลเด็กที่เติบโตในสถานสงเคราะห์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยใช้ตัวอย่างการทำงานในพื้นที่อำเภอสังขละบุรีเป็นต้นแบบ รวมทั้งการคุ้มครองดูแลเด็กในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีในภาพรวม ซึ่งครอบคลุมทั้งเด็กที่อาศัยอยู่ในสถานรองรับเด็กเอกชนประเภทต่าง ๆ เด็กที่อาศัยอยู่ในค่ายพักพิง เด็กลูกหลานแรงงานข้ามชาติ เด็กที่เดินทางไปกลับระหว่างชายแดนไทย-เมียนมา เด็กที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน และเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติ

            จากการติดตามการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ กสม. พบว่า หน่วยงานภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง และในพื้นที่ ตลอดจนองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์การระหว่างประเทศ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบเพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กในสถานสงเคราะห์ ซึ่ง กสม. จะรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น ข้อท้าทาย ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคที่พบเพื่อประสานการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับการเลี้ยงดูทดแทน (Alternative Care) ทุกรูปแบบของประเทศไทยให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้นและสอดคล้องตามหลักสิทธิเด็ก” นายวสันต์ กล่าว

            กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ยังได้มีมติเห็นชอบให้ยุติการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมาตรการหรือข้อเสนอแนะของ กสม. ชุดที่ 4 (ชุดปัจจุบัน) จำนวน 7 เรื่อง เนื่องจากหน่วยงานได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ กสม. ทั้งหมดหรือบางส่วนอันเป็นสาระสำคัญแล้ว ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสม. ว่าด้วยการติดตามผลการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชน พ.ศ. 2564 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตัวอย่างเรื่องที่ กสม. มีมติ ให้ยุติการติดตามการดำเนินงานของหน่วยงาน ได้แก่

            รายงานผลการตรวจสอบเรื่องสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายอันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็ก กรณีร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนทั้งสามราย ณ ร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดำเนิน เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2565 โดยใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสม พบว่า กระทรวง พม. โดย ดย. ได้กำหนดแนวปฏิบัติหรือคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีที่ต้องปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก รวมทั้งอยู่ระหว่างจัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และได้ออกประกาศ เรื่อง นโยบายคุ้มครองเด็ก เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานมีความรู้ความเข้าใจและตระหนักถึงหน้าที่ในการปกป้องและคุ้มครองเด็กจากการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบแล้ว ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวผู้เสียหายโดยไม่ชอบนั้น ผู้เสียหายได้ฟ้องกรณีดังกล่าวต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง

            รายงานผลการตรวจสอบเรื่องเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย กรณีอาสาสมัครทางการแพทย์ร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน จับกุมและทำร้ายร่างกายในช่วงการผลักดันผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสาธารณะ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และกรณีร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการอันอาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร ซึ่งภาพรวมแล้วรับฟังว่า ตร. ได้ดำเนินการตามมาตรการและข้อเสนอแนะของ กสม. ต่อเนื่องมาโดยตลอด และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นหลัก โดย ตร. มีการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อปี 2564 ต่อเนื่องมาทุกปี โดยกรณีเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 และวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม และสถานีตำรวจนครบาลดินแดงได้ดำเนินคดีเสร็จสิ้นทุกคดีแล้ว

            และรายงานผลการตรวจสอบเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวอันเกี่ยวเนื่องกับข้อมูลส่วนบุคคล กรณีมีผู้ร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการที่กองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ไม่คัดแยกประวัติอาชญากรรมออกจากฐานข้อมูลประวัติอาชญากร ภายหลัง ตร. ได้ประกาศใช้ระเบียบ ตร. ว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ พ.ศ. 2566 แล้ว เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โดยมีสาระสำคัญปรับปรุงเนื้อหาเรื่องการคัดแยกและถอนประวัติบุคคลออกจากทะเบียนประวัติแล้ว

 

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

27 มีนาคม 2568  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน