แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง ข้อเรียกร้องยุติการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

16/11/2557 175

 

                    ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ และการล่วงละเมิดทางเพศเป็นปัญหาที่พบทั่วไปในสังคมไทยและนับวันจะมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานับเป็นเวลากว่า ๑๐ ปี ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางทั้งด้านร่างกายและจิตใจแล้ว ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้หญิงและเด็ก โดยผู้หญิงซึ่งเป็นทั้งผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ปัจจุบันมีหญิงหม้ายและเด็กกำพร้าหลายพันคนจากสถานการณ์ความไม่สงบและยังมีผู้หญิงและเด็กหญิงที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยตรงจนถึงขั้นเสียชีวิตอีกจำนวนไม่น้อย โดยผู้หญิงที่เสียชีวิตเหล่านี้รวมถึงผู้หญิงที่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุข  หญิงมีครรภ์ หญิงพิการ
หญิงสูงอายุและเด็กหญิง
                   นอกจากความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบแล้วผู้หญิงยังต้องเผชิญกับความรุนแรงซ้ำซ้อนจากปัญหาความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เช่น ความรุนแรงทางเพศในครอบครัว  เนื่องจากสังคมยังมองว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว และสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงเอง   จึงไม่มีมาตรการชัดเจนในการแก้ปัญหาเพื่อยุติความรุนแรงและการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง
                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พบว่าผู้หญิงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎชุมชนซึ่งผู้นำชุมชนเป็นผู้ออกกฎระเบียบ เช่น มีการบังคับให้ผู้หญิงหรือเด็กหญิงแต่งงานโดยไม่สมัครใจและมีการลงโทษผู้หญิงหรือเด็กหญิงที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดขึ้น
                   ในโอกาสวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการปกป้องคุ้มครอง และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างมาตรการในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้หญิงเพื่อป้องกันหรือลดระดับความรุนแรงที่เกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบ ความรุนแรงในครอบครัว หรือความรุนแรงทางเพศ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม  ดังนี้
                   ๑) รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และสร้างมาตรการทุกอย่างที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองผู้หญิงและเด็กหญิงจากความรุนแรงทุกรูปแบบ รวมถึงให้มีการฟื้นฟู เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงที่ได้รับความรุนแรง
                   ๒) กลไกการทำงานในทุกภาคส่วนของสังคมต้องขจัดอุปสรรคต่างๆในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง ตามหลักกฎหมาย และหลักการศาสนาอิสลาม รวมถึงให้มีกระบวนการให้คำปรึกษาในทันทีที่ผู้หญิงและเด็กหญิงได้รับความรุนแรงทุกรูปแบบ
                   ๓) ให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสำคัญของสิทธิและเสรีภาพของสตรี ในการดำรงชีวิตและให้ความสำคัญกับการจัดตั้งครอบครัวเพื่อดำเนินชีวิตให้เป็นไปด้วยความอิสระ ปราศจากการบังคับ หรือ การคุกคามในทุกรูปแบบ
                   ๔) รัฐควรสร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน โดยการปลูกฝังให้แก่เด็กและเยาวชนให้รู้จักการเคารพในสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นเสมอเป็นของตนเอง ทุกคนทุกเพศทุกวัยควรมองเห็นปัญหาร่วมกันและมีส่วนร่วมในกระบวนการป้องกัน และแก้ไขปัญหา
                   ๕) รัฐต้องจัดให้มีกลไกการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างทั่วถึง สร้างความไว้ใจ และความเชื่อมั่นให้กับสตรีในทุกพื้นที่ โดยต้องนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการต่อต้านการทรมาน ของสหประชาชาติมาปฏิบัติในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้หญิง
                   ๖) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งเลิกใช้การต่อสู้ทางอาวุธและเคารพสิทธิของพลเรือนผู้บริสุทธิ์  โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็กโดยยึดถือหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชนในอิสลามเพื่อให้ความคุ้มครองผู้หญิงและเด็กให้มีความปลอดภัย
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

 

 

26/11/2557
เลื่อนขึ้นด้านบน