กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 36/2567 กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เสนอแนะมาตรการความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองเด็ก หลังเกิดโศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษา - แนะกระทรวงแรงงาน ยกเลิกแนวปฏิบัติสำนักงานประกันสังคม กรณีไม่จ่ายเงินสงเคราะห์ของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายให้กับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

25/10/2567 455

                วันที่ 25 ตุลาคม 2567 เวลา 11.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 36/2567 โดยมีวาระสำคัญดังนี้ 

            1. กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เสนอแนะมาตรการความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองเด็กจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หลังเกิดโศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษา

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่เกิดเหตุการณ์รถทัศนศึกษาของโรงเรียนวัดเขาพระยาสังฆาราม จังหวัดอุทัยธานี ประสบอุบัติเหตุ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567 ส่งผลให้นักเรียนและครูได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวอย่างเป็นระบบ เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2567 คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้จัดเวทีรับฟังข้อเท็จจริงและความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชนเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสำเนาแจ้งไปยังประธานรัฐสภา เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนน รัฐสภา สรุปได้ ดังนี้

            จากการรวบรวมข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น ปรากฏข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์โศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษาดังกล่าวเกิดจากอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนของรถชำรุดและมีประกายไฟ ทำให้เชื้อเพลิงหลักของรถคือก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) ติดไฟและไหม้อย่างรวดเร็ว ซึ่งรถคันดังกล่าวถูกดัดแปลงเพื่อติดตั้งถังก๊าซ CNG มากกว่าจำนวนที่จดแจ้งต่อกรมการขนส่งทางบก อีกทั้งคนขับรถไม่ช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในรถและประตูฉุกเฉินไม่สามารถเปิดออกได้ 

            กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า อุบัติเหตุทางถนนกระทบต่อสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายอันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งของทุกคน โดยอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) บัญญัติให้เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในทุกรูปแบบเพื่อให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ อีกทั้งคณะกรรมการประจำ CRC มีข้อกังวลเกี่ยวกับอุบัติเหตุและการบาดเจ็บทางถนนในประเทศไทยที่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เด็กเสียชีวิต จึงแนะนำให้รัฐดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างนโยบายการดูแลเด็ก และการสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของเด็กแก่ครอบครัว โรงเรียน และสังคมโดยรวม

            อย่างไรก็ตาม ในปี 2567 พบว่า มีรถรับส่งนักเรียนและรถทัศนศึกษาเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง แม้ว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแนวทางมาตรการด้านความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียน รวมถึงมีกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ยังไม่มีผลในทางปฏิบัติและขาดการบังคับใช้อย่างจริงจัง จึงมีรถรับส่งนักเรียนจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย บางส่วนดัดแปลงสภาพและนำมาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย จนทำให้เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสีย กสม. จึงเห็นว่า รัฐยังประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามนโยบายความปลอดภัยทางถนน และการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้รถทัศนศึกษา การใช้รถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียน 

            ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม 2567) กสม. โดยประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีหนังสือด่วนที่สุด เรื่องข้อเสนอแนะมาตรการความปลอดภัยเพื่อคุ้มครองเด็กตามหลักสิทธิมนุษยชนจากโศกนาฏกรรมรถทัศนศึกษา แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิในชีวิตและร่างกายและสิทธิเด็กให้ได้รับความปลอดภัยบนท้องถนน รวมถึงยุติการบาดเจ็บและเสียชีวิตให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร็ว สรุปได้ดังนี้ 

            (1) ให้ ครม. กำหนดให้ความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อยุติการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งสมควรมอบหมายให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบภาพรวมเป็นการเฉพาะ (single command) เพื่อกำกับติดตาม รายงานสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนน และประเมินผลเพื่อรายงานให้ ครม. ทราบความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์เพื่อยกเลิกการใช้รถโดยสารสองชั้นและรถที่ติดตั้งถังก๊าซธรรมชาติอัด (CNG) เป็นเชื้อเพลิงมาใช้เป็นรถทัศนศึกษาและรถโดยสารสาธารณะ

            (2) ในด้านการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน ให้ ครม. มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกเพิ่มความเข้มงวดผู้ที่ขออนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร การต่ออายุใบอนุญาต และการขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงสาระสำคัญของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก รวมถึงการตรวจสอบ กำกับสถานประกอบการเอกชนและผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ทำหน้าที่ออกหรือต่อใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด โดยร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมายกับรถโดยสารสาธารณะที่ถูกดัดแปลงหรือไม่ได้รับการต่อใบอนุญาต

            และให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมกับกรมการขนส่งทางบก ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการพานักเรียน และนักศึกษาไปนอกสถานศึกษา พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อย่างเคร่งครัด อาทิ การตรวจสอบสภาพรถทัศนศึกษาหรือยานพาหนะให้อยู่ในสภาพดีและพร้อมใช้งานได้อย่างปลอดภัย ก่อนการเดินทางโดยผู้ประกอบวิชาชีพ รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์คัดเลือกพนักงานขับรถทัศนศึกษาที่มีประสบการณ์ ผ่านการอบรมทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ และจัดให้มีพนักงานประจำรถที่สาธิตและแนะนำวิธีการรับมือหากเกิดอุบัติเหตุ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขไว้ในสัญญาที่จัดหารถทัศนศึกษาพร้อมประกันการเดินทางด้วยทุกครั้ง

                นอกจากนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงมหาดไทยกำชับให้สถานศึกษาทุกแห่งในสังกัดปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งให้ ตร. เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตรารถที่นำมาใช้รับส่งนักเรียนเพื่อให้เดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างปลอดภัย

                และ (3) ให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดทัศนศึกษาให้สอดคล้องกับช่วงวัยของเด็กและเยาวชนที่จะต้องได้รับการพัฒนาและความปลอดภัยของเด็ก รวมทั้งจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นรายวิชาภาคบังคับที่มีเนื้อหาการเผชิญเหตุฉุกเฉินหรือการเตรียมความพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุให้แก่เด็กตั้งแต่ระดับปฐมวัย ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา โดยกำหนดชั่วโมงเรียนเพื่อฝึกปฏิบัติและเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุในทุกปีด้วย

 

                   2. กสม. แนะยกเลิกแนวปฏิบัติสำนักงานประกันสังคมกรณีไม่จ่ายเงินสงเคราะห์ของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายให้กับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นบุตรตามความเป็นจริง

            นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้พิจารณากรณีสำนักงานประกันสังคมปฏิเสธการจ่ายเงินสงเคราะห์และเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายให้กับเด็กหญิงซึ่งเป็นบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่เป็นบุตรตามความเป็นจริงของผู้เสียชีวิต โดยเด็กหญิงและมารดาต้องยื่นฟ้องสำนักงานประกันสังคมและคณะกรรมการอุทธรณ์ ต่อศาลแรงงานภาค 7 เพื่อให้ได้รับเงินสงเคราะห์ตามมาตรา 73 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ต่อมา แม้ว่าศาลแรงงานภาค 7 จะมีคำพิพากษาว่า “บุตร” ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 หมายถึงบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรตามความเป็นจริงด้วย และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษได้พิพากษาเห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลแรงงานภาค 7 แต่สำนักงานประกันสังคมกลับมีหนังสือแจ้งเวียนว่า คำพิพากษามีผลผูกพันเฉพาะราย และให้ตีความคำว่า “บุตร” หมายถึงบุตรชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น กสม. เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นการจำกัดและกระทบต่อสิทธิเด็กและทายาทตามความเป็นจริงของผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตาย จึงได้หยิบยกขึ้นศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

            กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากการรวบรวมข้อมูลของสถาบันนิติวัชร์ สำนักงานอัยการสูงสุด ระหว่างปี 2565 ถึงเดือนพฤษภาคม 2567 ระบุว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด 64 จังหวัด มีคำร้องขอรับรองบุตรเพื่อนำไปใช้ประกอบการยื่นขอรับเงินประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้แก่บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 3,812 คดี เฉลี่ยปีละ 1,687 คดี โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยกว่า 10,000 บาท/คดี การดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้นทุกขั้นตอนต้องใช้เวลานานกว่า 3 ปี 10 เดือน เป็นเหตุให้บุตรของผู้ประกันตนซึ่งขอรับเงินสงเคราะห์ ได้รับเงินล่าช้าและไม่ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อน 

            เช่นเดียวกับกรณีนี้ การที่มารดาและเด็กต้องเป็นฝ่ายฟ้องคดีเพื่อให้ได้รับเงินประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคมฯ โดยต้องเผชิญกับขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ เพิ่มภาระและค่าใช้จ่ายจากการหยุดงานเพื่อไปขึ้นศาลบ่อยครั้ง ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียแรงงานทรัพยากรบุคคลโดยไม่จำเป็น เพราะเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตีความให้ “บุตร” ตามกฎหมายประกันสังคม หมายรวมถึงบุตรตามความเป็นจริงแล้ว สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายเงินดังกล่าวเช่นเดิม แต่กรณีนี้ สำนักงานประกันสังคมโดยสำนักสิทธิประโยชน์ กลุ่มงานกำกับและควบคุมการวินิจฉัยประโยชน์ทดแทน กลับมีหนังสือเวียน ที่ รง 0629/ว95 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 แจ้งสำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขา ว่าคำพิพากษาของศาลมีผลต่อคู่ความในคดีเท่านั้น การจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตและเงินบำเหน็จชราภาพแก่บุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งเท่านั้น หากจะเปลี่ยนแปลงแนวทางการวินิจฉัยจ่ายประโยชน์ทดแทนได้ต้องมีคำพิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดีจนเป็นแนวบรรทัดฐาน

            กสม. เห็นว่า แนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคมกระทบต่อสิทธิของเด็กและทายาทที่จะได้รับสวัสดิการสังคม และหลักประกันสังคมซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และความเห็นทั่วไป (General Comment) ของคณะกรรมการประจำกติกา ICESCR ที่ประสงค์ให้รัฐมุ่งเน้นสิทธิในการเข้าถึงและรักษาสิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ในความอุปการะ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของเงินหรือสิ่งอื่นใด โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ เพื่อให้ได้ความคุ้มครองจากการขาดรายได้จากการทำงานที่มีสาเหตุจากการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว รวมทั้งข้อ 2 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ที่รับรองสิทธิเด็กมิให้ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งการเกิดหรือสถานะอื่น ๆ ของเด็ก หรือบิดา มารดา หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ตลอดจนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 74 ว่าด้วยแนวนโยบายของรัฐในการคุ้มครองและส่งเสริมผู้ใช้แรงงานด้านรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ 

            ด้วยเหตุนี้ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 39/2567 เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 จึงมีมติให้แจ้งข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อมอบหมายให้สำนักงานประกันสังคมดำเนินการยกเลิกหนังสือสำนักสิทธิประโยชน์ กลุ่มงานกำกับและควบคุมการวินิจฉัยประโยชน์ทดแทน ที่ รง 0629/ว95 ลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 และให้มีหนังสือแจ้งแนวปฏิบัติเรื่องการตีความคำว่า “บุตร” ในมาตรา 73 (2) และมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้สอดคล้องตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 7 และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ กล่าวคือให้ตีความ “บุตร” ตามกฎหมายประกันสังคม หมายรวมถึงบุตรตามความเป็นจริง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระเกินสมควรและเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของเด็กให้ได้รับสวัสดิการสังคมและหลักประกันทางสังคมโดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ ตามที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และที่แก้ไขเพิ่มเติมด้วย

           

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

25 ตุลาคม 2567  

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน