สำนักงาน กสม. ออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างแนวทางการคุ้มครองสิทธิแรงงาน กรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศ

25/03/2568 41

                 เมื่อวันที่ 19 – 22 มีนาคม 2568 นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (สำนักงาน กสม.) ส่วนกลาง และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (สำนักงาน กสม. พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ร่วมออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ และจัดงานเสวนาคลินิกสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแนวทางการคุ้มครองสิทธิแรงงาน กรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรณรงค์และสร้างการรับรู้ถึงปัญหาแรงงานไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งการสร้างกลไกระดับจังหวัดเพื่อหาแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนในพื้นที่แต่ละจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ สภาทนายความ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ยุติธรรมชุมชน สภาผู้บริโภค และเครือข่ายด้านสิทธิแรงงาน ในทั้ง 4 จังหวัด รวมทั้งสิ้นประมาณ 400 คน

                 การออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่และจัดงานเสวนาคลินิกสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแนวทางการคุ้มครองสิทธิแรงงาน กรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน” ในครั้งนี้ ได้ดำเนินงานครอบคลุมต่อเนื่องในพื้นที่ 4 จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

                 เวทีที่ 1 จังหวัดอุดรธานี จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุม 1 อาคารเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 

                 เวทีที่ 2 จังหวัดหนองบัวลำภู จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมภูพานคำ ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู 

                 เวทีที่ 3 จังหวัดนครราชสีมา จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุม 1205 มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล 

                 เวทีที่ 4 จังหวัดบุรีรัมย์ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ณ ห้องประชุมนารายณ์บรรทมศิลป์ ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ 

                 โดยรูปแบบการจัดงานทั้ง 4 วันมีกิจกรรมหลัก ๆ ได้แก่การจัดงานเสวนาคลินิกสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “การบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแนวทางการคุ้มครองสิทธิแรงงาน กรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศในกลุ่มจังหวัดภาคอีสาน”โดยมีนางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้กล่าวเปิดงานซึ่งได้นำเสนอเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตลอดจนความสำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และความสำคัญของสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญและพันธกรณีระหว่างประเทศ และการให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเด็นสิทธิแรงงานของ กสม. ในชุดปัจจุบัน จากนั้นเป็นการฉายวีดิทัศน์ซึ่งให้ผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมรับชมสารคดีที่ผลิตโดยเครือข่ายและสื่อ เรื่อง “MISSÄ MARJAT ก็มันไม่มีเบอร์รี่” และเรื่อง “The Berries Blues เบอร์รีสีเศร้า” โดยมีผู้แทนเครือข่ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเดินทางไปทำงานในประเทศฟินแลนด์และประเทศสวีเดน ร่วมบอกเล่าถึงประสบการณ์ความทุกข์ยากและความเดือดร้อน ทั้งการถูกหลอกลวง การถูกเอารัดเอาเปรียบ และการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบจากขบวนการพาแรงงานไทยไปทำงานที่ต่างประเทศ ตลอดจนกระบวนการต่อสู้เรียกร้องเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง

                 ช่วงถัดมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “มาตรการปกป้องและคุ้มครองสิทธิแรงงานในต่างประเทศ” โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาประกอบไปด้วย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในแต่ละเวที ได้แก่ สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานยุติธรรมจังหวัด สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด และเครือข่ายสหภาพคนทำงานต่างประเทศแห่งประเทศไทย ซึ่งมีการกล่าวถึงบทบาท หน้าที่และอำนาจ ปัญหาและอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอแนะในการดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาให้แก่แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานในต่างประเทศในแต่ละพื้นที่ และในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะต่อกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ด้วย นอกจากนี้ในแต่ละเวที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการคุ้มครองสิทธิในแต่ละพื้นที่ ยังได้มีการร่วมออกบูธเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการเข้าถึงการช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ อีกด้วย

                 ทั้งนี้ การเสวนาในภาพรวมทั้ง 4 จังหวัด สรุปได้ว่า เบื้องต้นทุกฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่าหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจะต้องบูรณาการความร่วมมือเพื่อให้การทำงานเป็นไปโดยสอดคล้องกัน เกิดประสิทธิภาพ ไม่ล่าช้า และเปิดโอกาสให้ผู้แทนเครือข่ายแรงงานได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน รวมถึงเร่งรัดกระบวนการเยียวยาต่าง ๆ ให้มีความครอบคลุมและเหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับแรงงาน และในระยะยาวต้องร่วมกันแสวงหามาตรการในการป้องกันและขจัดไม่ให้เกิดปัญหาการเอารัดเอาเปรียบและการหลอกลวงแรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ โดยสำนักงาน กสม. จะรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่ได้รับจากการออกหน่วยคลินิกสิทธิมนุษยชนเคลื่อนที่ในครั้งนี้ ไปประมวลและเสนอต่อ กสม. เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำข้อเสนอแนะในประเด็นสิทธิแรงงานให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน พร้อมเตรียมวางแผนเพื่อเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อนำสรุปผลจากการจัดงานเสวนาและข้อเสนอแนะจากเวทีไปเสนอเป็นข้อมูลและผลักดันให้ปัญหาการถูกหลอกไปทำงานต่างประเทศเป็นวาระเร่งด่วนของจังหวัดในการร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

เลื่อนขึ้นด้านบน