กสม. แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 13/2568 กสม. เสนอ คกก.ป้องกันการทรมานฯ และรัฐบาล ตรวจสอบกรณีบุคคลสูญหายใน “เหตุการณ์ถังแดง” และเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย - แนะส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการปรับเป็นพินัยในความผิดมาตรา 5 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ หลังมีกรณีตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่นจับกุมหญิงสาวในข้อหา “เตร็ดเตร่” โดยไม่มีอำนาจ - แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากเหตุอาคาร สตง. ถล่ม เรียกร้องการสืบสวนสอบสวนที่โปร่งใส พร้อมขอ สตง. ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง

04/04/2568 158

            วันศุกร์ที่ 4 เมษายน 2568 เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์  ภัยหลีกลี้ และนางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 13/2568 โดยมีวาระสำคัญ 3 วาระ ดังนี้

            1. กสม. เสนอ คกก.ป้องกันการทรมานฯ และรัฐบาล ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีบุคคลสูญหายใน “เหตุการณ์ถังแดง” เมื่อปี 2515 และเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสีย

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2515 เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติภารกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในจังหวัดพัทลุงขณะเกิดเหตุ (ผู้ถูกร้องที่ 1) จากค่ายวัดเขาวงก์ อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ได้เข้าจับกุมบิดาของผู้ร้องที่บ้านพักและนำตัวไปที่ค่ายเกาะหลุง อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง จากนั้นนำตัวไปที่ค่ายบ้านท่าเชียด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาช่วงเย็นของวันที่ 29 สิงหาคม 2515 ญาติติดตามไปที่ค่ายบ้านท่าเชียด แต่ไม่พบบิดาของผู้ร้อง จนกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดพบตัวอีก คาดว่าได้เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารฯ ผู้ถูกร้องที่ 1 โดยการทำร้ายและเผาลงในถังแดง จึงขอให้ตรวจสอบเพื่อให้ผู้ถูกร้อง 1 และรัฐบาล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ขอโทษและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย ได้แก่ พยานบุคคล พยานผู้เชี่ยวชาญ เอกสารประวัติศาสตร์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อชี้แจงของหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบหลักกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุตามคำร้องนี้ การใช้อำนาจของรัฐอยู่ภายใต้การใช้บังคับของพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอยู่ในห้วงที่มีการประกาศให้จังหวัดพัทลุงเป็นเขตแทรกซึมของคอมมิวนิสต์ ซึ่งให้อำนาจหน่วยงานราชการสามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาว่ากระทำผิด จากเอกสารข่าวปรากฏคำบอกเล่าของชาวบ้านว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2515 เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้าควบคุมตัวชาวบ้าน 2 ราย ภายหลังได้ปล่อยตัวไป 1 ราย เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในบัญชี แต่ยังถูกควบคุมตัวอีก 1 ราย ต่อมาญาติได้ตามหาบิดาของผู้ร้องที่ค่ายทหารในบ้านหนองไทรและบ้านคลองหมวย รวมถึงกองอำนวยการกำลังผสมที่บ้านท่าเชียด แต่ไม่พบบุคคลดังกล่าว สอดคล้องกับข้อเท็จจริงฝ่ายผู้ร้อง และเอกสารข่าวที่ว่า เจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายอิงคยุทธบริหารได้กำหนดบุคคลเป้าหมายปฏิบัติการตามภารกิจปราบปรามคอมมิวนิสต์ในจังหวัดพัทลุงไว้ก่อนแล้ว ซึ่งมีชื่อของบิดาผู้ร้องอยู่ในรายชื่อบุคคลเป้าหมายด้วย และเจ้าหน้าที่ทหารจากปัตตานีมาควบคุมตัวบิดาของผู้ร้องไปสอบสวนที่ค่ายบ้านท่าเชียดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2515 แต่เมื่อญาติมาตามหาตัวที่ค่ายบ้านท่าเชียด ก็ไม่พบตัวหรือร่องรอยของบิดาผู้ร้องแต่อย่างใด และเชื่อว่าได้เสียชีวิตแล้ว

            เมื่อพิจารณาเอกสารข่าว เอกสารงานวิจัย และบันทึกการลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่ามีปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่กองอำนวยการป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงในห้วงเดือนสิงหาคม ปี 2515 โดยหลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์เข้าโจมตี กอ.ปค. เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิตหลายนาย ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) เข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยและนำไปสอบสวนด้วยวิธีการทารุณกรรม ทั้งการทำร้ายโดยตีให้สลบก่อนนำไปจุดไฟเผาใส่ในถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร รวมถึงวิธีการอื่น ๆ ซึ่งได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำจนกลายเป็นที่รับรู้ในเวลาต่อมาว่าคือ “เหตุการณ์ถังแดง” โดยผลจากการใช้ความรุนแรงของฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตหรือสูญหายไปกว่า 195 ราย โดยบิดาของผู้ร้องเป็นหนึ่งในรายชื่อผู้เสียชีวิต และต่อมาศาลจังหวัดพัทลุงได้มีคำสั่งคดีแพ่งให้บิดาของผู้ร้องเป็นบุคคลสาบสูญ เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2520

            จากข้อเท็จจริงข้างต้นมีข้อบ่งชี้ในลักษณะเดียวกันที่น่าเชื่อได้ว่า การสูญหายของบิดาผู้ร้องเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งกระทำทารุณกรรมต่อผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่ถูกควบคุมตัวไป แม้การสูญหายของบิดาผู้ร้องจะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งมีข้อจำกัดในการแสวงหาพยานหลักฐาน แต่จากพยานบุคคลเท่าที่ติดตามตัวได้และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ถังแดงทำให้เชื่อได้ว่า การหายตัวไปของบุคคลดังกล่าวเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผลจากการบังคับให้สูญหายนี้ กระทบต่อสาระสำคัญของสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองและคุ้มครองไว้ จึงรับฟังได้ว่า การหายตัวไปของบิดาผู้ร้อง เป็นกรณีถูกบังคับให้สูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติภารกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ในจังหวัดพัทลุงขณะเกิดเหตุ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

            ส่วนประเด็นการอำนวยความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยาต่อญาติหรือครอบครัวของบิดาผู้ร้องซึ่งเป็นผู้สูญหายนั้น เห็นว่า แม้ครอบครัวของผู้สูญหายไม่ได้ร้องทุกข์เพื่อให้มีการอำนวยความยุติธรรมในการสืบสวนสอบสวนและติดตามหาตัวผู้กระทำความผิด แต่จากเอกสารข่าวเมื่อปี 2518 พบว่าตัวแทนผู้สูญเสียได้ร้องขอความเป็นธรรมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและผู้บัญชาการทหารบก โดยเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำทารุณกรรมของเจ้าหน้าที่ทหารต่อประชาชนซึ่งถูกจับไปฆ่ายัดถังแดงโดยไม่มีความผิด พร้อมทั้งลงโทษเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำเกินขอบเขตของกฎหมาย แต่จากการตรวจสอบปรากฏเพียงเอกสารข่าวการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงทำนองว่า ผู้เสียชีวิตจากการฆ่าลงถังแดงเป็นผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จึงไม่ควรรื้อฟื้นสอบสวนลงโทษกัน เพราะจะทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ปฏิบัติงานเสียกำลังใจ รวมถึงฝ่ายประชาชนไม่มีหลักฐานยืนยันซึ่งญาติของผู้เสียชีวิตไม่ควรเรียกร้องจากรัฐบาลเนื่องจากเจ้าหน้าที่กระทำด้วยความตั้งใจดีที่จะปราบปรามคอมมิวนิสต์ อีกทั้งไม่พบข้อมูลการดำเนินการสอบสวนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า โดยให้เหตุผลว่า เหตุการณ์ดังกล่าว เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมานานกว่า 52 ปี ซึ่งผู้ปฏิบัติภารกิจในครั้งนั้นได้พ้นจากราชการแล้ว ทำให้ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่เพื่อหาข้อเท็จจริงและไม่สามารถพิสูจน์สืบค้นความเสียหายต่อร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐได้

            อย่างไรก็ดี กสม. เห็นว่า เมื่อผลการสืบสวนของกระทรวงมหาดไทยพบเหตุเสียชีวิตหรือสูญหายของบุคคลที่อยู่ในการควบคุมของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายในเหตุการณ์ถังแดงแล้ว ถือว่า เรื่องร้องเรียนมีมูลอันสมควรที่หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อให้ทราบถึงผู้ที่กระทำความผิดและชะตากรรมของผู้เสียหาย การชี้แจงว่าไม่อาจดำเนินการต่อไปได้จึงไม่มีเหตุผลอันสมควร และมีผลให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตหรือผู้สูญหายไม่ได้รับสิทธิในการเข้าถึงความยุติธรรม สมาชิกครอบครัวที่เหลืออยู่ต้องดำรงชีพอย่างยากลำบากหลังจากผู้สูญหายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัวถูกบังคับสูญหาย ทั้งยังกระทบต่อสิทธิในการรู้ความจริงที่เกิดขึ้น (right to know the truth) รวมทั้งมีผลให้หน่วยงานของรัฐไม่ได้ดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งที่เชื่อได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีการบังคับให้บุคคลสูญหายและผู้ที่ถูกควบคุมตัวไปเสียชีวิตจริง การไม่ทำหน้าที่ของรัฐในกรณีนี้จึงส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้ร้องและครอบครัวของผู้สูญเสียจนเกินสมควรแก่กรณี ในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า รัฐบาล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการอำนวยความยุติธรรมและการชดเชยเยียวยาต่อญาติหรือครอบครัวของบิดาผู้ร้องที่ถูกบังคับสูญหาย

            ทั้งนี้ กสม. มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ประกอบกับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับบุคคลให้สูญหายและการชดเชยเยียวยา แม้การหายตัวไปของบิดาผู้ร้องและบุคคลอื่นในเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมานานตั้งแต่ปี 2515 ทำให้มีข้อจำกัดในการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่เมื่อผลจากการตรวจสอบน่าเชื่อได้ว่าเป็นการบังคับบุคคลให้สูญหาย ย่อมถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องดำเนินการเยียวยาความสูญเสียที่เกิดขึ้น ดังเช่นที่รัฐบาลเคยเยียวยาความเสียหายจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 จึงมีมติให้เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงตามคำร้องนี้ จนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของบิดาผู้ร้องที่ถูกบังคับให้สูญหาย ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 และให้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินการหรือผลการดำเนินการให้ครอบครัวของผู้ร้องทราบเป็นระยะ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ครอบครัวของผู้ร้อง ตามระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่าด้วยการช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูผู้เสียหาย พ.ศ. 2568 และหลักการการชดเชยเยียวยาตามความเห็นทั่วไปฉบับที่ 3 ของคณะกรรมการประจำอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ

            นอกจากนี้ ให้รัฐบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงและกำหนดมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2495 และที่แก้ไขเพิ่มเติม บนพื้นฐานของความเป็นธรรมและความเสมอภาค และต้องแสดงความขอโทษต่อครอบครัวของผู้สูญเสียในฐานะที่รัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของประชาชน ทั้งนี้ การดำเนินการของรัฐต้องเป็นไปโดยความสมัครใจของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในชุมชน

 

                2. กสม. แนะส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการปรับเป็นพินัยในความผิดตามมาตรา 5 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ

หลังมีกรณีตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่นจับกุมหญิงสาวในข้อหา เตร็ดเตร่โดยไม่มีอำนาจ

            นางสาวสุภัทรา  นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องสองรายเมื่อเดือนมิถุนายนและสิงหาคม 2567 ซึ่งมีประเด็นร้องเรียนเดียวกัน ระบุว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น (สภ. เมืองขอนแก่น) ผู้ถูกร้องที่ 1 เข้าจับกุมหญิง 9 ราย บริเวณถนนหน้าศูนย์ราชการจังหวัดขอนแก่น จากนั้นได้นำตัวไปที่ สภ. เมืองขอนแก่น เพื่อจัดทำประวัติและบันทึกจับกุมและให้ชำระค่าปรับ โดยระบุข้อหาในใบเสร็จรับเงินว่า “เตร็ดเตร่ฯ” ทั้งที่ข้อหาดังกล่าวอยู่ในกฎหมายเก่าคือพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว และขณะเกิดเหตุพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดให้ความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มีเพียงโทษปรับเป็นพินัยสถานเดียว ประกอบกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กระทรวง พม.) มีประกาศโอนอำนาจปรับเป็นพินัยตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ จากฝ่ายปกครองหรือตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกระทรวง พม. แล้ว ดังนั้น ผู้ร้องเห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจับกุมและลงโทษปรับในข้อหาตามมาตรา 5 นั้นได้ นอกจากนี้ ในเหตุการณ์ดังกล่าวยังปรากฏว่าสำนักข่าวท้องถิ่นของจังหวัดขอนแก่นและสำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่ง (ผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3) นำเสนอข่าวการจับกุมโดยเผยแพร่คลิปวิดีโอการรายงานข่าวที่แม้จะปิดบังใบหน้าผู้ถูกจับกุม แต่เนื้อหาข่าวมีการนำเสนอข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถูกจับกุม ซึ่งสามารถระบุถึงตัวตนของผู้ถูกจับกุมได้ จึงขอให้ตรวจสอบ

            กสม. ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ ความผิดตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น แจ้งข้อกล่าวหานั้น คือ “เข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตามหรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอาย หรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน” ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 โดยให้เสียค่าปรับรายละ 50 บาท แต่ใบเสร็จระบุข้อกล่าวหาว่า “เตร็ดเตร่ฯ” ซึ่งการกระทำในลักษณะ “เตร็ดเตร่ฯ” เพื่อการค้าประเวณีเป็นความผิดอาญาตามมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าที่มีโทษอาญาจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่กฎหมายดังกล่าวถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พร้อมทั้งได้กำหนดความผิดอาญาเพื่อการค้าประเวณี จาก “เตร็ดเตร่ฯ” เป็นความผิดในลักษณะ “ชักชวน แนะนำตัว ติดตามฯ” ตามมาตรา 5 ซึ่งเหลือโทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งพันบาท

            ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม 2565 พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้ โดยกำหนดให้เปลี่ยนความผิดอาญาที่มีโทษปรับสถานเดียวตามมาตรา 5 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 เป็นความผิดทางพินัย และไม่ถือว่าการปรับเป็นพินัยนั้นเป็นโทษทางอาญา และกำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายนั้น ออกประกาศกำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัย ซึ่ง กระทรวง พม. ได้ออกประกาศ เรื่อง กำหนดเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีอำนาจปรับเป็นพินัยตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 บังคับใช้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 และเพิ่มเติมฉบับที่ 2 บังคับใช้เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. เป็นผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยในความผิดทางพินัย

            ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น จับกุมและควบคุมตัวหญิงทั้ง 9 ราย ไปที่สถานีตำรวจ พร้อมกับแจ้งข้อกล่าวหา ทำประวัติอาชญากร และปรับผู้ถูกจับกุม เป็นการจับกุม ควบคุมตัว และปรับโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย และการระบุข้อหาในใบเสร็จรับเงินค่าปรับว่า “เตร็ดเตร่ฯ” ยังเป็นการระบุข้อหาที่เป็นความผิดอาญาตามความในมาตรา 5 (2) แห่งพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ซึ่งถูกยกเลิกแล้ว จึงเป็นการระบุโทษที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

                ส่วนกรณีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนนั้น จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น ได้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับการจับกุม คือ รูปภาพ คลิปวิดีโอ รวมถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ถูกจับกุม ให้สำนักข่าวผ่านกลุ่มไลน์ (Line) และสำนักข่าวได้รับเนื้อหาข่าวจากการประชาสัมพันธ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ โดยในวันเกิดเหตุไม่มีผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวผู้ถูกร้องที่ 2 และ 3 เข้าร่วมด้วย การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีนี้ จึงขัดต่อคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 855/2548 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ข่าว การแถลงข่าว การให้สัมภาษณ์ การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ซึ่งห้ามให้ข่าวในเรื่องที่จะเกิดความเสียหายทางชื่อเสียงหรือผลประโยชน์แก่ผู้อื่น เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ การส่งต่อข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนของผู้ถูกจับกุมได้ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีนี้ จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของผู้ถูกจับกุม เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยช

            สำหรับการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวผู้ถูกร้องนั้น เห็นว่า สำนักข่าวผู้ถูกร้องทั้งสองแห่งได้นำเสนอข่าวผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ โดยมีเนื้อหาข่าวที่ระบุถึงชื่อจริง (ปกปิดนามสกุล) อายุ อำเภอหรือจังหวัดซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้ถูกจับกุม พร้อมนำเสนอรูปภาพของผู้ถูกจับกุมที่แม้จะมีการปิดบังใบหน้า แต่เมื่อพิจารณาข้อมูลที่อยู่ในเนื้อหาข่าวประกอบแล้ว อาจทำให้บุคคลทั่วไปทราบถึงตัวตนของผู้ถูกจับกุม นอกจากนี้ การนำเสนอเนื้อหาข่าวยังระบุถึงพฤติการณ์ของผู้ถูกจับกุมในทำนองว่า มีหญิงกำลังชักชวนลูกค้าเพื่อซื้อบริการ โดยยังไม่ได้รับการตรวจสอบหรือพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัยว่าผู้ถูกจับกุมมีพฤติการณ์ที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 5 ในพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯจริงหรือไม่ จึงอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจไปก่อนว่าผู้ถูกจับกุมมีการกระทำความผิดดังกล่าว ที่นำไปสู่การถูกตีตรา เหยียดหยาม เกิดความรู้สึกอับอายต่อตนเอง ครอบครัว และมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม อันกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของผู้ถูกจับกุม ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการร้องเรียนเกิดขึ้น สำนักข่าวผู้ถูกร้องที่ 2ได้ลบข่าวและคลิปวิดีโอข่าวดังกล่าวออกจากช่องทางออนไลน์ทั้งหมดแล้ว ส่วนผู้ถูกร้องที่ 3 ได้ปรับแก้เนื้อหาข่าวบางส่วน

            ด้วยเหตุผลข้างต้น กสม.ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะในการป้องกันหรือแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสรุปได้ ดังนี้

                (1) ให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ร่วมกับ สภ. เมืองขอนแก่น ตรวจสอบข้อเท็จจริงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ. เมืองขอนแก่น ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยให้ สภ. เมืองขอนแก่น กำหนดแนวทางหรือกำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการให้ข่าว การเผยแพร่ภาพต่อสื่อมวลชน และการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของผู้อื่น รวมทั้งทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปรับเป็นพินัยในความผิดทางพินัยตามความในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ประกอบกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ให้ สภ. เมืองขอนแก่น เยียวยาผู้ถูกจับกุมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรณีนี้ และให้จัดทำหนังสือแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมกับคืนค่าปรับและลบประวัติการกระทำความผิดของผู้ถูกจับกุมทั้ง 9 ราย ที่เกิดจากการจับกุม ควบคุมตัว และปรับโดยไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น กำกับและติดตามให้ สภ. เมืองขอนแก่น ดำเนินการตามข้อเสนอแนะดังกล่าวด้วย

            (2) ให้สำนักข่าวผู้ถูกร้องที่ 3 ลบเนื้อหาข่าว เช่นเดียวกับผู้ถูกร้องที่ 2 หรือแก้ไขเนื้อหาข่าวในส่วนที่ระบุถึงพฤติการณ์หรือการกระทำของบุคคลในข่าวที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์การกระทำจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมทั้งแก้ไขเนื้อหาข่าวในส่วนอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว เกียรติยศ ชื่อเสียง และครอบครัวของบุคคลในข่าว และเยียวยาผู้ถูกจับกุมที่ได้รับผลกระทบจากการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งให้จัดทำหนังสือแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว นอกจากนี้ให้สำนักข่าวผู้ถูกร้องทั้งสองแห่งกำหนดแนวทางปฏิบัติในการนำเสนอข่าวที่ไม่ทำให้สามารถระบุถึงตัวตนหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิด โดยให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติการได้มาและการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสื่อมวลชน โดยไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว

            (3) ให้กระทรวง พม. และ ตร.ร่วมกันกำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 เกี่ยวกับขั้นตอนการแสวงหาข้อเท็จจริง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจปรับเป็นพินัย เมื่อพบผู้กระทำความผิดตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ให้เหมาะสมกับการกระทำความผิด รวมทั้งกำหนดแบบฟอร์มเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าว และกำหนดระยะเวลาการจัดเก็บไฟล์วิดีโอที่ได้จาก
การปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมถึงสั่งการกำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยในสังกัดดำเนินการตามแนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

 

            3. กสม. แสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากเหตุอาคาร สตง. ถล่ม ให้กำลังใจทุกฝ่ายที่เร่งช่วยค้นหาผู้รอดชีวิต เรียกร้องการสืบสวนสอบสวนที่โปร่งใส

พร้อมขอ สตง. ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง

            นายวสันต์  ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 8.2 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยแรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัด โดยเฉพาะการถล่มของอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สำนักงาน สตง.) แห่งใหม่ในเขตจตุจักรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ ผู้เสียชีวิต และผู้สูญหายรวมกว่า 100 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในพื้นที่ก่อสร้าง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างปฏิบัติการค้นหาผู้รอดชีวิตอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่องนั้น

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปยังครอบครัวของผู้สูญเสีย ขอให้กำลังใจครอบครัวผู้ที่ยังสูญหาย ตลอดจนเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่อยู่ระหว่างปฏิบัติการช่วยเหลือผู้รอดชีวิตและค้นหาผู้สูญหาย โดยเห็นว่าเหตุอาคารสำนักงาน สตง. ที่ถล่มลงเป็นเพียงอาคารเดียวในประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงถึงระดับนี้ ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้น สะท้อนถึงปัญหาตลอดจนข้อบกพร่องในการก่อสร้างอาคารดังกล่าว กระทั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิและความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ก่อสร้างรวมทั้งประชาชนโดยรอบ

            ท่ามกลางข้อสงสัยและการตั้งคำถามของสาธารณะต่อสาเหตุที่แท้จริงของเหตุอาคารถล่ม กสม. ขอเน้นย้ำถึงสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องของประชาชน โดยขอให้มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน และโปร่งใส เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุทำนองเดียวกันนี้ขึ้นอีก ทั้งนี้ขอให้สำนักงาน สตง. ให้ความร่วมมือในการสอบสวนอย่างเต็มที่ พร้อมรับการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เอาจริงเอาจัง ไม่น้อยไปกว่าที่เคยตรวจสอบหน่วยงานอื่น ๆ

            พร้อมกันนี้ กสม. ขอเน้นย้ำให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาระบบการเตือนภัยพิบัติทุกรูปแบบ ทั้งภัยจากแผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม หรือไฟป่า รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชนในการรับมือกับเหตุดังกล่าว เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายของประชาชนและบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

4 เมษายน 2568

ไฟล์เอกสารที่เกี่ยวข้อง
เลื่อนขึ้นด้านบน