กสม. วสันต์ ร่วมงานรําลึก 14 ตุลาคม ประจําปี 2566

15/10/2566 1545

          วันที่ 14 ตุลาคม 2566 เวลา 09.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมงานสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา เนื่องในวาระ 50 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 โดยวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา ดังนี้

          "ในฐานะผู้แทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รู้สึกยินดีและขอขอบคุณมูลนิธิ 14 ตุลา ที่ให้เกียรติเชิญคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาวางพวงมาลาและกล่าวคำรำลึกในงานรำลึก 14 ตุลาคม ประจำปี 2566

          วันนี้เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านมาครบ 50 ปี ครึ่งศตวรรษ พวกเรามาพบกันที่นี่อีกครั้ง ไม่ใช่เพียงเพราะเป็นประเพณีหรือพิธีกรรม แต่เพราะว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นยังประทับอยู่ในความทรงจำ เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของสังคมไทย เหตุการณ์ที่นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปที่รักและศรัทธาในเสรีภาพและประชาธิปไตย ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ในสิ่งที่พวกเขาเชื่อมั่นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เหตุการณ์เช่นนี้ยากที่จะลืมเลือน

          ในโอกาสนี้ขอคารวะวีรชน 14 ตุลา ทั้งผู้ที่จากไปและผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่และต่อสู้อย่างต่อเนื่องประชาธิปไตยในยุคนั้นจะเบ่งบานและส่งผลสะเทือนกว้างใหญ่ไพศาลไม่ได้ หากไม่ใช่ด้วยความเสียสละของพวกเขาเหล่านั้น

          การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในยุค 14 ตุลา ไม่ได้จำกัดวงอยู่ในหมู่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกรรมกร ชาวไร่ชาวนา ซึ่งก่อนหน้านั้นไร้ซึ่งสิทธิ์และเสียง แม้ว่าเวลาของความเบ่งบานจะไม่นานนักก็ตาม แต่จิตสำนึกในสิทธิ์ได้ถูกกระตุ้นขึ้นและยังคงได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมา บางครั้งอาจขึ้นสู่กระแสสูง บางครั้งก็ถดถอย แต่จิตสำนึกที่ว่านี้ไม่ได้เลือนหายไปแต่อย่างใด

          ความต้องการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้น ไม่ได้เริ่มต้นที่ 14 ตุลา เริ่มมาก่อนหน้านั้น และมาถึงวันนี้ความต้องการที่ว่านั้นก็ยังดำรงอยู่ วิธีการอาจเปลี่ยนไปในแต่ละยุคสมัย แต่หัวใจที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยดีขึ้นยังคงอยู่ ตราบใดที่สังคมยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม

          ในฐานะองค์กรหลักด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ กสม. เชื่อในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของคนในสังคม เรื่องการเคารพสิทธิ ไม่เพียงสิทธิของตัวเรา พวกเรา แต่รวมถึงสิทธิของผู้อื่น ของคนอื่น ๆ  ในสังคมด้วย เคารพในความเป็นคน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน เพราะทุกคนมีศักดิ์ศรี มีความภาคภูมิใจในตนเองด้วยกันทั้งนั้น ผมมองว่าเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสังคมที่ดี ทำอย่างไรที่จะให้หลักสิทธิมนุษยชนเบ่งบานและฝังรากในสังคมได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงกำหนดเป็นกฎหมาย เป็นสนธิสัญญาหรืออนุสัญญาต่าง ๆ  แต่สิทธิมนุษยชนจะต้องอยู่ในใจของทุกคน อยู่ในมโนสำนึกของพวกเราทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย

          ในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอขอบคุณมูลนิธิ 14 ตุลา อีกครั้งที่ได้สานต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและธำรงไว้ซึ่งเจตจำนงอันหาญกล้าของเหล่าวีรชนผู้เสียสละ ถึงแม้ว่าปัจจุบันพวกเราผู้ที่ยังมีลมหายใจอยู่ยังต้องผจญกับความท้าทายในหลากหลายรูปแบบ แต่ผมมั่นใจว่า เราจะร่วมมือกันในการสานต่อและจรรโลงให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย สังคมที่เคารพในสิทธิมนุษยชน"

เลื่อนขึ้นด้านบน