๑.๑ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ องค์การสหประชาชาติและองค์กรในเครือบางแห่งได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการจัดตั้งสถาบันระดับชาติเพื่อเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน รายงานเหล่านี้ได้นำไปสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (UN International Workshop on National Institutions for the Promotion and Protection of Human Rights) ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสในปี ๑๙๙๑ (พ.ศ. ๒๕๓๔) และนำไปสู่การจัดทำ “หลักการเกี่ยวกับสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (Principles relating to the status of national institutions) หรือที่เรียกกันในชื่อ “หลักการปารีส” (Paris Principles) เป็นหลักการชี้แนะเกณฑ์ขั้นต่ำสำหรับการจัดตั้งและการดำเนินงานของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ[1]
๑.๒ สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Institutions: NHRIs) เป็นองค์กรที่รัฐจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นให้มีอำนาจหน้าที่หลักที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในรัฐ มีความเป็นอิสระ และไม่มีสถานะเป็นหน่วยงานของฝ่ายบริหาร (independent and autonomous)[2] และได้รับการรับรองภายใต้ระบบสหประชาชาติ มีกรอบอำนาจหน้าที่สำคัญตามหลักการปารีส ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผ่านการจัดการเรื่องร้องเรียนและตรวจสอบสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนด้วยกระบวนการทางเลือกและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการศึกษา การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การฝึกอบรมและการเสริมสร้างศักยภาพ ตลอดจนการให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการปฏิรูปกฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การติดตามสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศและจัดทำรายงานผ่านกลไกและกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal periodic Review: UPR)
๑.๓ ในปี ๑๙๙๓ (พ.ศ. ๒๕๓๖) สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั่วโลกได้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศของสหประชาชาติว่าด้วยสถาบันแห่งชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ ๒ และรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (International Coordinating Committee of National Human Rights Institutions – ICC) ซึ่งนับแต่นั้นมา สมัชชาสหประชาชาติได้ออกข้อมติหลายฉบับเพื่อเรียกร้องให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและผู้ตรวจการแผ่นดินในปี ๒๐๑๖ (พ.ศ. ๒๕๕๙) ที่ประชุมใหญ่ ICC ได้ลงมติเพื่อเปลี่ยนชื่อองค์กรเป็น “กรอบเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” (Global Alliance of National Human Rights Institutions: GANHRI)
๑.๔ GANHRI เป็นองค์กรเครือข่ายสมาชิก (member-based network) ที่รวบรวมสถาบัน
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติจากทั่วโลกมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้เป็นไปตามหลักการปารีสและการเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการประสานงานกับคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติและกลไกภายใต้สนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน โดย GANHRI มีรูปแบบเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรภายใต้กฎหมายสวิส มีธรรมนูญ GANHRI (GANHRI Statute) เป็นกฎหมายสูงสุดในการดำเนินงานของ GANHRI มีสมาชิกจากสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมากกว่า ๑๑๐ แห่งทั่วโลก จึงถือเป็นเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง
๑.๕ อำนาจหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของ GANHRI คือการพิจารณาประเมินสถานะของสถาบัน
สิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิก โดยกลไกที่เรียกว่า คณะอนุกรรมการประเมินสถานะ (Sub-Committee on Accreditation: SCA) ทำหน้าที่ประเมินสถานะของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อให้ได้มาตรฐานสอดคล้องกับหลักการปารีส โดยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์พื้นฐานดังต่อไปนี้
(๑) สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะต้องจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายจัดตั้งอื่น ๆ
(๒) มีอำนาจในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
(๓) มีความเป็นอิสระจากรัฐบาล และภาคส่วนอื่น ๆ
(๔) สะท้อนความหลากหลายทางสังคม
(๕) มีกระบวนการแต่งตั้ง ถอดถอน และระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่โปร่งใส และมั่นคง
(๖) มีทรัพยากรทั้งด้านงบประมาณและบุคลากรในการดำเนินงานอย่างเพียงพอ
(๗) มีอำนาจอย่างเพียงพอในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
(๘) มีความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงภาคประชาสังคม
(๙) มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำรายงานประจำปี