South East Asia National Human Rights Institutions Forum (SEANF)
กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum)
1. ความเป็นมาของ SEANF
กรอบความร่วมมือระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia National Human Rights Institutions Forum) เป็นความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 โดยความเห็นชอบร่วมกันของสถาบันสิทธิมนุษยชนจาก 4 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ในระหว่างการประชุมว่าด้วยกลไกสิทธิมนุษยชนอาเซียน ครั้งที่ 4 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยใช้ชื่อของกรอบความร่วมมือในระยะเริ่มแรกว่า “ASEAN NHRIs Forum” หรือ “ANF” โดยมีประเด็นที่ให้ความสนใจร่วมกัน 5 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การก่อการร้าย (2) การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (3) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนา (4) สิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน และ (5) สิทธิมนุษยชนศึกษา ทั้งนี้ กรอบความร่วมมือนี้ได้มีการจัดการประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2547
จนกระทั่งถึงการประชุม ครั้งที่ 3 ณ เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในปี 2550 ที่ประชุมจึงได้มีการลงนามในเอกสารการจัดตั้งกรอบความร่วมมือร่วมกันอย่างเป็นทางการที่เรียกว่า “Declaration of Cooperation” โดยเอกสารนี้มีสาระสำคัญประกอบด้วย (1) การกำหนดให้กรอบความร่วมมือนี้มีการประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (2) การมีข้อเสนอแนะให้ภาครัฐมีการดำเนินการขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมในระดับภูมิภาค (3) การเปิดโอกาสให้องค์กรที่มีแนวคิดด้านสิทธิมนุษยชนทั้งในส่วนขององค์กรภาครัฐ องค์กรเอกชน หรือองค์กรภาควิชาการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันและส่งเสริมให้มีการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค
ต่อมาในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 6 ณ เมืองยอกยาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในปี 2552 ที่ประชุมได้ตกลงกันให้มีการจัดทำข้อบังคับการดำเนินงาน (Rules of Procedure) ขึ้น เพื่อเป็นการกำหนดรูปแบบหรือวิธีในการดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเห็นชอบให้มีการเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือจาก “ANF” เป็น “South East Asia National Human Rights Institutions Forum” หรือ “SEANF” ตลอดจนการมีท่าทีที่เปิดกว้างที่จะให้มีการติดต่อประสานงานหรือการดำเนินกิจกรรมร่วมกันกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอื่น ๆ ที่มิใช่สมาชิก เช่น ติมอร์ - เลสเต้ การดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) รวมทั้งการเสนอความช่วยเหลือในการทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนร่วมกับกลไกอื่นในภูมิภาค
ต่อมาในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 7 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ในปี 2553 ที่ประชุมได้มีการรับรองการเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของติมอร์ - เลสเต อย่างเป็นทางการและในการประชุมประจำปี ครั้งที่ 9 ณ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี 2555 ที่ประชุมได้มีการรับรองการเข้าเป็นสมาชิกของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเมียนมาอย่างเป็นทางการ ทำให้สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของทั้ง 2 ประเทศได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 5 และ 6 ตามลำดับ
2. สมาชิกของ SEANF
ปัจจุบัน SEANF มีสมาชิกรวม 6 สถาบัน ประกอบด้วย
(1) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Indonesian National Commission on Human Rights - Komnas HAM)
(2) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของมาเลเซีย (Human Rights Commission of Malaysia - SUHAKAM)
(3) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของเมียนมา (Myanmar National Human Rights Commission - MNHRC)
(4) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (Commission on Human Rights of the Philippines - CHRP)
(5) ผู้ตรวจการแผ่นดินของติมอร์ - เลสเต (Provedoria dos Direitos Humanos e Justica - PDHJ) และ
(6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. (National Human Rights Commission of Thailand)
3. ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ของ SEANF (SEANF Priorities)
SEANF เป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่พยายามจะทำหน้าที่เป็นกลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพัฒนานโยบาย และการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกัน ตลอดจนการมีความร่วมมือกันในการจัดทำข้อเสนอแนะหรือความเห็นต่อกรณีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผ่านกรอบในการทำงานร่วมกัน การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน โดยมีกระบวนการในการประชุมปรึกษาหารือร่วมกัน ทั้งนี้ ในระยะแรก SEANF มีประเด็นที่ให้ความสนใจร่วมกัน 5 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การก่อการร้าย (2) การค้ามนุษย์ โดยเฉพาะผู้หญิงและเด็ก (3) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และสิทธิในการพัฒนา (4) สิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน และ (5) สิทธิมนุษยชนศึกษา
อย่างไรก็ตาม ตามแผนยุทธศาสตร์ของ SEANF ปี 2560 - 2564 (SEANF Strategic Plan 2017 - 2021) ซึ่งเป็นแผนฉบับปัจจุบัน SEANF ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน (SEANF Priorities) ประกอบด้วย
(1) การมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือ
(2) การสร้างเครือข่ายและการแลกเปลี่ยนข้อมูล
(3) การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน
(4) การมีจุดยืนร่วมกันต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค
(5) การตอบสนองต่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิผล
โดยมีประเด็นสิทธิมนุษยชนในเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Human Rights Priorities) ที่ SEANF ให้ความสำคัญร่วมกัน 6 ประเด็น ประกอบด้วย (1) การเคลื่อนย้ายของบุคคล รวมถึง แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน การค้ามนุษย์ ผู้ลี้ภัย และผู้แสวงหาที่พักพิง (2) ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (3) สิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน รวมถึง ความยุติธรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (4) การก่อการร้ายและแนวคิดแบบสุดขั้ว (5) สิทธิมนุษยชนของกลุ่มที่เปราะบาง และ (6) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
4. การประชุมของ SEANF
ในปัจจุบัน สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นประธานของกรอบความร่วมมือ SEANF โดยมีวาระ 1 ปี เพื่อทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมต่าง ๆ ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเป็นประธานของ SEANF โดยจะมีการจัดประชุมใน 3 ลักษณะ ประกอบด้วย
(1) การประชุมประจำปีของ SEANF (SEANF Annual Meeting) มีการประชุมปีละ 1 ครั้ง ณ ประเทศที่ทำหน้าที่เป็นประธานของ SEANF โดยเป็นการประชุมหารือร่วมกันเกี่ยวกับความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะมีหัวข้อหลักที่ประเทศเจ้าภาพให้ความสำคัญเป็นพิเศษและประเด็นอื่นที่สถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกหยิบยกขึ้นมาประชุมหารือประกอบกันขึ้นเป็นระเบียบวาระของการประชุม ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาแนวทางในการร่วมมือกัน ตลอดจนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ร่วมกันในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่หลากหลาย
(2) การประชุมเจ้าหน้าที่ (Technical Working Group Meeting – TWG) จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกและ/หรือประเทศสมาชิก ความร่วมมือกับกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน การดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การกำหนดประเด็นสำคัญในระดับภูมิภาคร่วมกัน และการเตรียมการสำหรับการประชุมประจำปี
(3) กาประชุมสมัยพิเศษ หรือการประชุมตามแผนงาน/โครงการที่กำหนดขึ้นโดยสมาชิก SEANF ซึ่งจะจัดขึ้นตามวาระและความจำเป็นหรือการมีสถานกาณ์เร่งด่วนพิเศษตามที่สมาชิกจะตกลงกัน ซึ่งจะจัดขึ้นประมาณปีละ 1 - 2 ครั้ง
5. การทำหน้าที่ประธาน SEANF ของ กสม. ในปี 2561
กสม. ได้ทำหน้าที่ประธาน SEANF ครั้งแรกเมื่อปี 2547 และครั้งถัดมาในปี 2552 และ 2555 ตามลำดับ และวาระการดำรงตำแหน่งประธานของ SEANF ของ กสม. ได้เวียนมาถึงอีกครั้งในปี 2561 ทำให้ กสม. มีภารกิจในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมของ SEANF จำนวน 3 ครั้ง ประกอบด้วย การจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ (TWG) จำนวน 2 ครั้ง และการประชุมประจำปี (SEANF Annual Meeting) จำนวน 1 ครั้ง รวมทั้งกิจกรรมพิเศษในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
5.1 กิจกรรมพิเศษในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
ในช่วงเช้าวันแรกของการจัดการประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2561 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดกิจกรรมพิเศษในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขึ้น ในลักษณะการอภิปราย (panel discussion) ในหัวข้อ “สิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นปัจจัยเพื่อการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Human Rights as an Enabling Factor to Achieving SDGs) โดยมีวิทยากรในการอภิปราย จำนวน 5 คน ประกอบด้วย (1) Tan Sri Razali Ismail ประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของมาเลเซีย (SUHAKAM) (2) นาง Sandrayati Moniaga รองประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของอินโดนีเซีย (Komnas HAM) (3) นาย Roberto Eugenio T. Cadiz กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของฟิลิปปินส์ (CHRP) (4) ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ (5) นาย Juan Santander รองผู้แทนประจำประเทศไทย องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) โดยมี Ms. Katia Chirizzi รองผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำนักงาน OHCHR เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยในการอภิปรายครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมรับฟังการอภิปรายรวมประมาณ 100 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ/กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ/ผู้ชำนาญการ ประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกของ SEANF และคณะผู้แทนของ SEANF ผู้บริหารและบุคลากรของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตและองค์กรระหว่างประเทศที่มีที่ตั้งในประเทศไทย ผู้แทนหน่วยงานและองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม
5.2 การประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 15
ในการประชุมประจำปีของ SEANF ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 13 - 14 กันยายน 2561 ที่ประชุมได้เห็นชอบและรับทราบความก้าวหน้าในการดำเนินการของ SEANF ในรอบปี 2561 ในหลายประเด็น ประกอบด้วย (1) การนำเสนอผลงานที่สำคัญของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกของ SEANF เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการปฏิบัติระหว่างกัน โดยประธานสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกของ SEANF เป็นผู้นำเสนอ (2) ความคืบหน้าของการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการถาวรของ SEANF (3) การรับรองแผนปฏิบัติการของ SEANF (SEANF Action Plan) ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ของ SEANF พ.ศ. 2560 - 2564 (4) ความคืบหน้าของการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration– GCM) และแนวทางในการทำงานในอนาคต (5) ความคืบหน้าของการประชุมคณะทำงานของสหประชาชาติว่าด้วยผู้สูงอายุ (UN Open-ended Working Group on Ageing) สมัยที่ 9 และแนวทางในการทำงานในอนาคต และการรับรองรายงานขั้นพื้นฐานว่าด้วยสิทธิของผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Baseline Paper on the Rights of Older Persons in South East Asia) (6) การรายงานผลการจัดกิจกรรมร่วมกับสถาบัน RWI และความคืบหน้าของการดำเนินกิจกรรมร่วมกับสมาคม APT (7) การรับรองแถลงการณ์ของ SEANF ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SEANF Statement on Human Rights and SDGs) ที่เน้นการให้ความสำคัญกับบทบาทของ SEANF และสมาชิก SEANF ในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และสิทธิมนุษยชนในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และ (8) การส่งมอบตำแหน่งประธาน SEANF ให้กับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของติมอร์ - เลสเต
5.3 การประชุมระดับเจ้าหน้าที่ ครั้งที่ 1/2561 และครั้งที่ 2/2561
สำหรับในส่วนของการจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ (TWG) ครั้งที่ 1/2561 และครั้งที่ 2/2561 สำนักงาน กสม. ได้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2561 และวันที่ 12 - 13 กรกฎาคม 2561 ตามลำดับนั้น มีประเด็นของการประชุมหารือที่สำคัญ ประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลการดำเนินงานระหว่างสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เป็นสมาชิกของ SEANF ภายหลังการประชุมประจำปี ครั้งที่ 14 กิจกรรมหรือโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการที่จะจัดร่วมกับสถาบัน Raoul Wallenberg (RWI) และสมาคมต่อต้านการทรมาน (APT) แนวทางการดำเนินการภายหลังการจัดทำเอกสารข้อมูลพื้นฐานด้านผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการเตรียมหัวข้อ/ประเด็นหลักของการประชุมประจำปี ครั้งที่ 15 ที่ กสม. จะเป็นเจ้าภาพ ตลอดจนประเด็นอื่นที่มีการหยิบยกขึ้นมาหารือเป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ ในระหว่างการประชุม ครั้งที่ 1/2561 สำนักงาน กสม. ได้นำคณะผู้แทน SEANF ที่เข้าร่วมประชุมไปทัศนะศึกษาและเยี่ยมชมศูนย์ศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์ดังกล่าวเป็นต้นแบบที่ดีของการฝึกฝนอาชีพให้แก่ชุมชนท้องถิ่นเพื่อให้สามารถสร้างรายได้และการพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมทั้งเป็นการศึกษาและอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมไทยตามแนวพระราชดำริ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการ SDGs และ ICESCR รวมทั้งเพื่อแสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของไทยที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสิทธิทางเศรษฐกิจของสตรีในชนบท โดยเฉพาะการสร้างอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่สตรี ตลอดจนศูนย์ดังกล่าวยังมีที่ตั้งที่อยู่ใกล้กับสถานที่จัดการประชุมด้วย
6. บทสรุป
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก แต่สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคยังมีความอ่อนไหวและเปราะบาง กรอบความร่วมมือ SEANF จึงถือเป็นกลไกความร่วมมือที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค ซึ่งการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาคจะเป็นการเสริมและขยายพลังของเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้รัฐบาลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการดำเนินการที่เป็นความก้าวหน้าในประเด็นที่เป็นปัญหาร่วมกันทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น ประเด็นการค้ามนุษย์ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ธุรกิจและสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังทำให้สถาบันสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคมีพลังที่เพิ่มขึ้นในการมีความสัมพันธ์กับองค์กรหรือกลไกภายนอกภูมิภาค เช่น APF GANHRI OHCHR ตลอดจนกลไกในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคของอาเซียน เช่น AICHR ACWC