เกี่ยวกับเรา
ความเป็นมาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 4 (ชุดปัจจุบัน)

                   คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ชุดที่ 4 ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 จำนวน 7 คน ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภาจากผู้ซึ่งได้รับการสรรหา มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

                   ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ได้บัญญัติเกี่ยวกับสถานะและที่มาของ กสม. ไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ในประการสำคัญ ดังนี้

                   1. กสม. มีสถานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 12 องค์กรอิสระ ส่วนที่ 6 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

                   2. องค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีจำนวน 11 คน ประกอบด้วย

                   (1) ประธานศาลฎีกา

                   (2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

                   (3) ประธานศาลปกครองสูงสุด

                   (4) ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรละหนึ่งคน ซึ่งเลือกกันเองให้เหลือ 3 คน

                   (5) ผู้แทนสภาทนายความหนึ่งคน ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน และผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชนเลือกกันเองให้เหลือ 1 คน

                   (6) อาจารย์ประจำหรือผู้เคยเป็นอาจารย์ประจำในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งสอนหรือทำงานวิจัยหรือทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ซึ่งกรรมการตาม (1) – (5) มีมติเลือกด้วยคะแนนเสียงสองในสาม 1 คน

                   3. กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จำนวน 7 คน จะต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับการสรรหาและแต่งตั้งจากผู้เป็นกลางทางการเมือง และมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นที่ประจักษ์เป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปีในด้านดังต่อไปนี้ อย่างน้อยด้านละหนึ่งคนแต่จะเกินด้านละ 2 คนไม่ได้

                   (1) มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน

                   (2) มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา

                   (3) มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสม.

                   (4) มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

                   (5) มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของไทย เป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

                   ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 13 (3) ได้กำหนดกระบวนการในการสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่สำคัญประการหนึ่ง คือ คณะกรรมการสรรหาจะต้องปรึกษาหารือเพื่อคัดสรรให้ได้บุคคลซึ่งมีความรับผิดชอบสูง มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ และมีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม มีทัศนคติที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลสำเร็จ รวมตลอดทั้งคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของทั้งหญิงและชาย และส่งเสริมความเป็นพหุสังคม                   

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ชุดที่ 4 ได้แก่
     1. นางสาวพรประไพ  กาญจนรินทร์       ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
     2. นางปรีดา  คงแป้น                           กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน
     3. นายสุชาติ  เศรษฐมาลินี                   กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการสอนหรือทำงานวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในระดับอุดมศึกษา
     4. นางสาวศยามล  ไกยูรวงศ์                กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
     5. นางสาวปิติกาญจน์  สิทธิเดช            กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
     6. นายวสันต์ ภัยหลีกลี้                         กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ด้านปรัชญา วัฒนธรรมประเพณี และวิถีชีวิตของไทย
         เป็นที่ประจักษ์ที่จะยังประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
     7. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว                    กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
         เป็นผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนต่อเนื่องกัน

                   ทั้งนี้ ลำดับที่ 1-6 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และลำดับที่ 7 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565

เลื่อนขึ้นด้านบน